อีริคสัน สาธิตเครือข่าย 5จี สร้างสถิติความเร็ว 5Gbps บนคลื่น 15GHz รองรับความต้องการใช้งานบนอุปกรณ์โมบายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง…

เมื่อเร็วๆ นี้ "อีริคสัน" ได้สาธิตระบบเครือข่าย 5จี โดยส่งข้อมูล (over-the-air) สร้างสถิติด้วยความเร็ว 5Gbps บนคลื่นความถี่ย่าน 15GHz โดยผู้บริหารระดับสูงของผู้ให้บริการเครือข่าย (โอเปอเรเตอร์) ชั้นนำระดับโลก เช่น NTT DOCOMO และ SK Telecom ได้เข้าร่วมชมการสาธิตระบบเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งใช้นวัตกรรมใหม่ของอีริคสันในการบีบอัดและส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุ ร่วมกับเทคโนโลยีล่าสุดของระบบ MIMO

โดยจากรายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด ได้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2019 กว่า 85% ของผู้ใช้งานโมบายโฟนในทวีปอเมริกาเหนือจะมีการเข้าถึงระบบ 4จี แอลทีอี โดยอัตราการเข้าถึงในระดับสูงเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าอเมริกาเหนืออาจจะเป็นภูมิภาคแรกๆ ที่จะมีการนำเทคโนโลยี 5จี มาใช้งาน ขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ก็น่าจะเป็น 2 ประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับประโยชน์จากระบบ 5จี โดยทั้งผู้ให้บริการเครือข่าย NTT DOCOMO และ SK Telecom ต่างเริ่มดำเนินการทดสอบเครือข่าย 5จี แล้ว ซึ่งรายงาน Ericsson Mobility Report ระบุว่าในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ มีผู้ใช้งาน 4จี แอลทีอีมากกว่า 30% และ 50% ตามลำดับ โดยประเทศเกาหลีนั้นเป็นประเทศที่มีอัตราผู้ใช้งาน 4จี แอลทีอี ต่อประชากรสูงสุดในโลกอีกด้วย

แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จะคาดการณ์ว่า เครือข่ายระบบ 5จี จะเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2020 แต่ อีริคสัน ประกาศว่าได้ประสบความสำเร็จในการสาธิตระบบเครือข่าย 5จี โดยส่งข้อมูล (over-the-air) ด้วยการสร้างสถิติที่ความเร็ว 5Gbps แล้ว ที่สำนักงานใหญ่ของอีริคสัน เมืองชิสต้า ประเทศสวีเดน โดยประสิทธิภาพและความเร็วของเครือข่าย 5จี ที่เพิ่มขึ้นนั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายต่างๆ ทั่วโลก สามารถรองรับกับความต้องการในการใช้งานโมบายดาต้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมไปถึงแอพพลิเคชั่นการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ หรือ M2M application ในอนาคต

นอกจากนี้ รายงาน Ericsson Mobility Report ยังชี้ให้เห็นถึงปัจจัยต่างๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องวางแผนนวัตกรรมเครือข่ายโมบายสำหรับอนาคต หรือ 5จี โดยรายงานดังกล่าวได้เปิดเผยว่า อัตราการเติบโตของการใช้งานโมบายดาต้าบนเครือข่ายโมบายหรือโทรศัพท์มือถือทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ในระหว่างปี 2013-2019 และในปี 2019 การใช้อุปกรณ์ machine-to-machine (M2M) บนเครือข่ายโมบาย จะเพิ่มขึ้นกว่า 3-4 เท่าตัว

นายบัญญัติ เกิดนิยม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ อีริคสัน ประเทศไทย กล่าวว่า การสาธิตครั้งนี้เป็นการนำนวัตกรรมการอินเทอร์เฟสของคลื่นวิทยุ มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี Advanced Multiple-Input Multiple Output (MIMO) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งข้อมูล โดยการพัฒนาเครือข่าย 5จี ของอีริคสัน ประกอบด้วย ระบบเสาอากาศอัจฉริยะ (smart antenna) ที่สามารถส่งสัญญาณในช่วงสัญญาณแบนด์วิธที่กว้างมากขึ้น บนคลื่นความถี่สูงขึ้น ตลอดจนการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ อุปกรณ์สถานีฐาน 5จี ที่ใช้ในการสาธิตครั้งนี้ ประกอบด้วยระบบ baseband unit (อุปกรณ์สถานีหลัก) และ radio unit (อุปกรณ์การส่งสัญญาณ) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเครือข่าย 5จี โดยเฉพาะ

นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า ปริมาณทราฟฟิกบนเครือข่ายโมบายทั่วโลก อาจจะเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัวในปี 2019 การพัฒนาระบบ 5จี กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้งานในอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น เช่น ในตัวเมือง ซึ่งเทคโนโลยีแต่ละยุคนั้นจะมีความแตกต่างกัน อาทิ ระบบ 2จี ก็จะถูกพัฒนาเพื่อการให้บริการเสียง (voice service) ส่วน 3จี นั้นเพื่อบริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือ (mobile internet) และระบบ 4จี แอลทีอี เพื่อบริการโมบายบรอดแบนด์ (mobile broadband)

สำหรับหัวใจสำคัญในนวัตกรรม 5จี ของอีริคสัน คือ อุปกรณ์สถานีฐานขนาดเล็ก (small cell) ที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบเน็ตเวิร์กแบบองค์รวม (heterogeneous network), การใช้ความถี่สูงในย่านใหม่ที่ 15Gbps, ระบบการรับส่งข้อมูล (backhaul transmission) ที่รวดเร็ว ด้วยความเร็วที่สูงขึ้น ความหน่วงในการรับส่งข้อมูล (Latency) ที่ต่ำลง ตลอดจนประสิทธิภาพที่ดีขึ้นเมื่อใช้งานในพื้นที่มีการใช้งานหนาแน่น ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติหลักของระบบ 5จี ที่จะพัฒนาขึ้นมาเพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน รวมถึงส่งเสริมการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์และแอพพลิเคชั่น M2M ซึ่งจะส่งผลกระทบและประโยชน์กับผู้บริโภค ทั้งการควบคุมความปลอดภัยทางจราจร ระบบอินเทอร์เน็ต รวมถึงสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรม เช่น ระบบเซ็นเซอร์ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เครือข่ายดังกล่าวยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาและกำหนดวิสัยทัศน์ แต่การสาธิตในครั้งนี้เปรียบเสมือนการสะท้อนความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของอีริคสัน.

...