31 ก.ค.“วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก” ชีวิตแขวนบน “เส้นด้าย”

31 กรกฎาคมของทุกปี คือ “วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก”

หลายคนอาจไม่รู้ซึ้งถึงความสำคัญของเจ้าหน้าที่ผู้ปกป้องผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังถูกมนุษย์คุกคามทำลาย เขาเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความเสี่ยงจากอันตรายนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากขบวนการบุกรุกป่า และล่าสัตว์ ชีวิตต้อง “แขวนอยู่บนเส้นด้าย”

ถ้าพลาดหมายถึงชีวิตที่อาจสูญเสีย บาดเจ็บ หรือพิกลพิการ

ย้อนสถิติการบาดเจ็บล้มตายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของไทย ตลอดระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2553-2557 พบว่ามีถึง 113 ราย โดยเสียชีวิต 50 ราย บาดเจ็บสาหัส 39 ราย บาดเจ็บ 22 ราย และทุพพลภาพสูญเสียอวัยวะ 2 ราย

ณ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าทั้งหมด 320.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ 73 ล้านไร่ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยแบ่งออกเป็น อุทยานแห่งชาติ 140 แห่ง อุทยานฯ ทางบก 116 แห่ง อุทยานฯ ทางทะเล 24 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 55 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 48 แห่ง

...

ในขณะที่มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั้งสิ้น 20,000 คน ทำหน้าที่ปกป้องผืนป่า จำนวน 73 ล้านไร่ เมื่อเฉลี่ยแล้วพบว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 1 คนต้องดูแลพื้นที่ป่าประมาณ 5,000 ไร่ แต่ได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ 4,200 บาท และเพิ่งจะปรับขึ้นเป็น 7,000-9,000 บาท เมื่อเดือน เม.ย. 2555 ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของกรมป่าไม้ ที่ทำหน้าที่ดูแลป่าสงวนฯ ซึ่งมีเพียง 4,000 คน แต่ต้องดูแลป่ากินพื้นที่กว่า 102 ไร่ เฉลี่ยแล้วรับผิดชอบป่ากว่า 2 หมื่นไร่ต่อคน

ค่าตอบแทนที่ได้รับดูแล้วไม่สมหน้าที่ สวัสดิภาพยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเหล่านี้เป็นเพียงพนักงานราชการ พนักงานจ้างเหมาบริการ จึงไม่มีแม้กระทั่งค่ารักษาพยาบาล มีเพียงบ้านพักในพื้นที่ แถมบางครั้งมีปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณค่าตอบแทนบุคลากรล่าช้า กว่าจะตกเบิกก็กินเวลาหลายเดือน

หลายพื้นที่ต้องออกลาดตระเวน แต่อาวุธแทบไม่มีติดตัว มีเพียงปืนลูกซอง 1-2 กระบอกต่อหนึ่งหน่วย เมื่อไปปะทะกับขบวนการรุกป่าที่อาวุธทันสมัยครบมือ แม้ชีวิตของตัวเองก็แทบจะป้องกันไม่ได้แล้วจะปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าได้อย่างไร

ส่งผลให้หลายคนเกิดความท้อและถอดใจ

“เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ถือเป็นผู้ปฏิบัติงานที่เสียสละ ทำงานหนัก เพราะปัจจุบันมีการลักลอบตัดไม้ การล่าสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่มีความเสี่ยงและต้องเผชิญกับอันตรายมากขึ้น ขณะที่ค่าตอบแทนและสวัสดิการน้อยมาก เมื่อเทียบกับภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้พยายามปรับปรุงสวัสดิการให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยเทียบเคียงข้อมูลจากกรมสวัสดิการทหารบก เพราะภารกิจของเจ้าหน้าที่มีความเสี่ยงเทียบได้กับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหารตามแนวชายแดน เบื้องต้นได้จัดทำประกันชีวิตหมู่ให้แล้ว กรณีเสียชีวิต ครอบครัวและบุตรหลานจะได้รับเงินสินไหม 2 แสนบาท แต่หากเป็นกรณีทุพพลภาพ หรือได้รับบาดเจ็บ จะได้รับลดหลั่นกันไป” นายนิพนธ์ โชติบาล รองอธิบดี รักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุ

นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการเครื่องแบบ อุปกรณ์ต่างๆ ในการเดินป่า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาจัดสร้างที่พักและสวัสดิการโครงการอาวุธปืนให้แก่เจ้าหน้าที่ และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจได้มีการปรับปรุงค่าตอบแทนเพิ่มจากเดิมที่ได้รับอยู่ และขอให้บรรจุเป็นพนักงานราชการ 1,300 อัตรา

...

เช่นเดียวกับในส่วนของกรมป่าไม้ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า “ขณะนี้กำลังจะปรับเพิ่มเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า รวมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมทางอากาศ เข้ามาช่วยในการตรวจจับ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเพื่อลดความเสี่ยงให้กับเจ้าหน้าที่”

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่าแม้ในสภาพปัจจุบัน ค่าตอบแทนและสวัสดิการของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จะได้รับการ “เยียวยา” ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่หากเทียบภารกิจหน้าที่กับหน่วยงานอื่นต้องยอมรับว่ายังมีความแตกต่างกันอยู่มาก ในขณะที่เจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง มีบ้านพักฟรี ใช้น้ำ ไฟฟ้าฟรี แต่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหลายพื้นที่กลับไม่มีบ้านพัก และยังต้องทำงานเสี่ยงภัย

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ผู้ถือเป็น “หน่วยหน้ากล้าตาย” ในการอนุรักษ์ผืนป่า และเก็บรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้คนรุ่นหลัง

...

อย่าปล่อยให้การบาดเจ็บล้มตายของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่ทำหน้าที่เสมือน “ผู้ปิดทองหลังพระ” ต้อง “สูญเปล่า” จนเกิดเป็นคำถามคาใจ

พวกเขาพิทักษ์ไพร...แล้วใครพิทักษ์พวกเขา???

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม