เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดศาลพระบรมราชานุสาวรีย์ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

ณ ที่นั้น ราษฎร 7 ราย ได้น้อมเกล้าฯถวายที่ดิน บริเวณหมู่ 2 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 264 ไร่ เพื่อต้องการให้สร้างพระตำหนัก ด้วยเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปที่ไหน...ก็พยายามที่จะพัฒนาทำให้ที่ดินเจริญขึ้น เนื่องจากผืนดินเสื่อมโทรมไม่สามารถทำการเกษตรได้

ดังพระราชดำรัส “...ประวัติมีว่า ตอนแรกมีที่ดิน 264 ไร่ ที่ผู้ใหญ่บ้านให้เพื่อสร้างตำหนัก ในปี 2522 ที่เชิงเขาหินซ้อนใกล้วัดเขาหินซ้อน ตอนแรกก็ต้องค้นคว้าว่าที่ตรงนั้นคือตรงไหน ก็พยายามสืบถามก็ได้พบบนแผนที่พอดี อยู่มุมบนของระวางของแผนที่ จึงต้องต่อแผนที่ 4 ระวาง สำหรับให้ได้ทราบว่าสถานที่ตรงนั้นอยู่ตรงไหน ก็เลยถามผู้ที่ให้ที่นั้นนะ ถ้าหากไม่สร้างตำหนัก แต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรจะเอาไหม เขาก็บอกยินดี ก็เลยเริ่มทำในที่นั้น...”

นี่คือที่มาของ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ...แหล่งรวบรวมการศึกษา ทดลอง วิจัย การพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดินทรายจัดเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีรูปแบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ประชาชน...เกษตรกรสามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้ในทุกสาขาวิชาชีพ

...

เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในด้านการเกษตรกรรม การพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นต้นแบบและแนวทางให้แก่เกษตรกร ผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติในพื้นที่ต่อไป

โดยเฉพาะหมู่บ้านเป้าหมาย 15 หมู่บ้าน เนื้อที่ 113,214 ไร่

อภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน บอกว่า พื้นที่เขาหินซ้อนในอดีตเป็นป่าใหญ่ภาคตะวันออก ต่อมาก็มีการบุกรุก ทำลายป่าไปเรื่อย แล้วก็มาปลูกพืชไร่ กระทั่งดินเสื่อมโทรมขาดอินทรียวัตถุ เสื่อมสภาพหนักจนเป็นดินทราย ก็ยังมีการขุดทรายไปขาย จนสภาพพื้นที่เป็นหลุมบ่อเต็มไปหมด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงพื้นที่ผืนนี้ จึงมีการจัด ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นมาเป็นศูนย์แรก จากทั้ง 6 ศูนย์ทั่วประเทศ

ภารกิจหลักคือการศึกษา ค้นคว้า วิจัย โดยให้ศูนย์ศึกษาฯ เขาหินซ้อน เป็นแหล่งรวมในการศึกษา การทดลองว่าจะพลิกฟื้นดินทราย ดินเสื่อมโทรมให้เกษตรกรกลับมาทำประโยชน์ได้

นอกจากนี้ยังมีการทำโครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ จัดเก็บน้ำ แล้วก็มีงานค้นคว้าวิจัยในลักษณะบูรณาการ ซึ่งเป็นแนวทางพื้นฐานของศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกแห่ง ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมมือกันศึกษา แก้ปัญหา

เมื่อค้นคว้าแล้ว ศึกษาแล้วได้ผลสำเร็จ ก็นำงานที่สำเร็จนั้นขยายผลไปตามหมู่บ้าน แล้วก็ส่งต่อความรู้ขยายความสำเร็จต่อไปเรื่อยๆ เป็นรูปแบบในการพัฒนาในพื้นที่ที่มีปัญหาคล้ายๆกัน

“พื้นที่เขาหินซ้อน จากป่า...กลายเป็นทะเลทรายไปแล้ว พระองค์ท่านก็สามารถพลิกฟื้นให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้”

ดังที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2540 ความว่า “ที่เขาหินซ้อนหลายฝ่ายช่วยกัน ใช้เวลา 15 ปี ที่นี่จึงเป็นแม่แบบช่วยชาวบ้านได้ ที่อื่นเลยทำง่ายขึ้น ต้องอดทน แล้วเป็นไง ก็ได้ประโยชน์ ชาวบ้านมีความสุข เราก็สุข ที่นี่เมื่อก่อนปลูกมันสำปะหลังยังไม่ขึ้นเลย เดี๋ยวนี้ดีขึ้น แต่ก็เย็นสบายดี เปลี่ยนแปลงไปมาก”

ระหว่างวันที่ 9-15 มิถุนายน 2557 ที่จะถึงนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557

เผยแพร่พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อกรมพัฒนาที่ดินและศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานในด้านวิชาการ การสาธิต อบรม ให้ความรู้ การขยายผลต่อเกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์

ประชาชนทั่วไปและผู้สนใจ สามารถเข้ามาเยี่ยมชมงานของหน่วย งานต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานส่วนกลาง ได้แก่ สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน สำนักเทคโนโลยีการสำรวจและทำแผนที่

รวมถึงหน่วยงานส่วนภูมิภาค ได้แก่ สถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรี สถานีพัฒนาที่ดินฉะเชิงเทรา สถานีพัฒนาที่ดินระยอง สถานีพัฒนาที่ดินชลบุรี สถานีพัฒนาที่ดินสระแก้ว สถานีพัฒนาที่ดินตราด สถานีพัฒนาที่ดินปราจีนบุรี

นอกจากนี้ยังมีการอบรมอาชีพเสริมระยะสั้นทุกวัน วันละ 4 รอบ เช่น การทำพวงกุญแจ การทำขนม การทำสินค้าแปรรูป ที่ขาดไม่ได้กิจกรรมสร้างสีสัน...การแข่งขันกีฬาพื้นบ้านเพื่อให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วม อาทิ ปิดตาป้อนกล้วย พายเรือกระทะ โยนลูกปิงปอง กินวิบาก จับเป็ด การชกมวยทะเล การตำส้มตำลีลา

ถึงตรงนี้คงต้องย้ำว่า...ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 ศูนย์ทั่วประเทศ แต่ละศูนย์ก็จะมีเป้าหมายในการพัฒนาฟื้นฟูผืนดินในแต่ละพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งในเรื่องภูมิสังคม หมายถึงว่า...สังคมในแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน ปัญหาของแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน

ในการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น จะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และสังคมวิทยาของแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกันด้วยเสมอ

ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “...การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศตามสังคมวิทยา คือนิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไปช่วยโดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง...”

ส่วนหลักใหญ่ที่คล้ายกัน...การพัฒนาต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยที่จะต้องทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งก่อน แล้วมีการพัฒนาต่อไปให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ ขณะเดียวกันจะต้องอนุรักษ์...พัฒนาทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความรู้เทคนิควิชาการสมัยใหม่พร้อมๆกันไปด้วย

อภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ทิ้งท้ายว่า

“ในโลกนี้มีพระมหากษัตริย์ประเทศไทยพระองค์เดียวที่ลงมาสนใจเกี่ยวกับเรื่องดิน…สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำคือการแก้ปัญหาเรื่องการทำการเกษตร โดยเน้นเรื่องทรัพยากร ถ้าแก้ปัญหาเรื่องดินทำให้ดินให้ผลผลิตได้...ได้สูง ก็จะแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้”.