"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลั่นพร้อมร่วมถก "กกต." วอนทุกพรรคหาทางออกประเทศ หวั่นซ้ำรอยปี 49
วันที่ 21 เม.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าในวันที่ 22 เม.ย. ตนกับนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะไปร่วมหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับพรรคการเมืองอื่น หวังว่าพรุ่งนี้จะเป็นกระบวนการที่พรรคการเมืองจะช่วยกันหาคำตอบให้กับประเทศมากกว่าหาคำตอบให้พรรคการเมือง เพราะเป้าหมายสุดท้ายของ กกต.จะไปหารือกับรัฐบาลในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่
ทั้งนี้ ปัญหาของประเทศคงไม่ใช่การหาคำตอบว่าพรรคการเมืองต้องการเลือกตั้งวันไหน แต่คำตอบของประเทศคือจะกำหนดการเลือกตั้งใหม่ที่เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งพรรคเชื่อว่าการเลือกตั้งต้องเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบของประเทศ และประสงค์จะเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม
โดยพรรคจะเสนอว่าให้ทุกพรรคการเมืองช่วยกันแก้ปัญหา หรือปมเงื่อนไขที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่เพียงแก้ไขระเบียบเพื่อให้สามารถเลือกตั้งได้ แต่สุดท้ายอาจไม่สามารถเปิดประชุมสภาเพื่อให้มีรัฐบาลใหม่ได้
ดังนั้นจึงขอเชิญชวนทุกพรรคการเมืองให้ช่วยกันหาทางออกมากกว่าที่จะไปทะเลาะกัน และพูดแต่ความต้องการของพรรคการเมือง เพราะการตอบโจทย์ประเทศมีมากกว่าการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน ประชาชนก็กังวลว่าผลการตัดสินใจองค์กรอิสระอาจจะทำให้เกิดการปะทะกันของประชาชน อีกทั้งเชื่อว่าการไปลงพื้นที่หาเสียงของพรรคการเมืองไม่ราบรื่น ซึ่งมีตัวอย่างของการเลือกตั้งปี 2549 ที่มีความพยายามที่จะจัดการเลือกตั้งในเดือน ต.ค. แต่สุดท้ายไปจบที่เหตุการณ์รัฐประหาร เพราะสุ่มเสี่ยงกับการที่มวลชนแต่ละฝ่ายจะปะทะกัน จึงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
...
จึงขอเรียกร้องพรรคการเมืองที่ไปร่วมหารืออย่า "ตั้งธง" แต่สมควรไปหาคำตอบในวันพรุ่งนี้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์พร้อมรับฟังข้อเสนอ และเชื่อว่า กกต.จะไม่ใช่เสียงข้างมากของพรรคการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า หวังว่าเหตุการณ์ 2 ก.พ. และการเลือกตั้ง ส.ว.จะเป็นบทเรียนสำหรับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป เพราะทั้ง 2 เหตุการณ์มีการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่าปกติ และหากบรรยากาศการเลือกตั้งเป็นแบบนี้ ถือว่าไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข.