"ยิ่งลักษณ์" โพสต์เฟซบุ๊ก อัดศาล รธน.ขาดหลักนิติธรรม ขัดหลักรัฐธรรมนูญ รับคำร้องวินิจฉัยสถานภาพซ้ำซ้อน ชี้ทำหลักตรวจสอบถ่วงดุล อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ สองมาตรฐาน ทำบ้านเมืองแตกแยก...

วันที่ 9 เม.ย. 57 เวลา 14.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ว่า "จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องกรณีที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหาและคณะ ยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี กรณีการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการสร้างปรากฏการณ์และบรรทัดฐานใหม่ในการบริหารราชการของไทย เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ รับคดีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลมาพิจารณา ทั้งๆ คดีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แก่นายถวิล ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสถานะของดิฉัน ในขณะนี้นั้น ดิฉันได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 (2) แล้ว สืบเนื่องจากการยุบสภา และได้คืนอำนาจการตัดสินใจในทางการเมืองตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยในปัจจุบันดิฉัน ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับคำร้องดังกล่าว มาวินิจฉัยให้เกิดความซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเสียเองแล้ว คำวินิจฉัยที่ขาดหลักการความเป็นสากลในเรื่อง “หลักนิติธรรม” อาจกลายเครื่องมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในทางการเมืองอีกด้วย

...

ตามหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจนั้น อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จะต้องมีความสมดุลกัน และในปัจจุบันมีหน่วยงานและสถาบันที่ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่แล้ว และหากทุกฝ่ายทำหน้าที่โดยยึดหลักการดังกล่าว ก็จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างราบรื่น และท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้งเช่นปัจจุบัน สถาบันที่มีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ควรต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารโดยยึดหลักการ และหน้าที่ตามขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยไม่ก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ และที่สำคัญจะต้องไม่สร้างความแตกแยกให้กับสังคมด้วยการดำเนินการใดๆ ในลักษณะสองมาตรฐาน ขอให้ทุกฝ่ายทำงานโดยยึดหลักการที่ถูกต้อง เป็นธรรม และเป็นสากล เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีหลักยึด และให้ประเทศไทยสามารถตอบคำถามของสังคมโลกได้อย่างภาคภูมิ.