21 มีนาคม “วันป่าไม้โลก” (World forestry day) ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของประเทศไทย เพื่อกระตุกคนไทยให้สำเหนียกถึงมหันตภัยจากการตัดไม้ทำลายป่า และช่วยปลุกสำนึกที่จะต้องร่วมกันปกป้องป่าไม้และผืนป่าของประเทศไทยที่เหลือเพียงน้อยนิดเอาไว้
เพราะถึงวันนี้สถานการณ์ป่าไม้ไทยถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ!
ล่าสุดจากการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ของประเทศของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.–31 ธ.ค.2556 พบว่า เหลือพื้นที่ป่าไม้ แค่ 102,120,417.98 ไร่ หรือร้อยละ 31.57 เท่านั้น ลดลงจากการสำรวจในปี 2551 ที่มี 108 ล้านไร่ หรือร้อยละ 33.8
หมายความว่า พื้นที่ป่าไม้ลดลงกว่า 6 ล้านไร่ใน 5 ปีหรือหายไปร้อยละ 2.37 ของพื้นที่ประเทศไทย หรือเฉลี่ยลดลงปีละกว่า 1 ล้านไร่
“ต้องหยุดการตัดไม้ทำลายป่าให้ได้ ถ้าหยุดไม่ได้ ป่าไม้ไทยไม่เหลือแน่” นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ ระบุชัดพร้อมกล่าวถึงความห่วงใยสถานการณ์ป่าไม้ โดยเฉพาะโฟกัสไปที่ “ไม้พะยูง” ว่า สำหรับไม้ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดขณะนี้ คือ ไม้พะยูง มีการจับกุมและลักลอบตัดทุกวัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ ในรายงานของคณะทำงานแก้ไขปัญหาไม้พะยูงแบบบูรณาการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธาน ระบุว่าขบวนการลักลอบตัดไม้-ขนย้ายพะยูง มี 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ต้องการใช้ไม้พะยูง ได้แก่ กลุ่มชาวจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ซึ่งมีการส่งไม้พะยูงผ่านนายทุนชาวลาวและเวียดนาม 2.กลุ่มนายทุนคนไทย จะไปรับซื้อไม้พะยูง ตามหมู่บ้านที่มีพื้นที่ป่าในจังหวัดที่มีไม้พะยูง แล้วรวบรวมขนไปเก็บไว้ตามแหล่งพักและขนย้ายออกนอกประเทศทางท่าเรือและพื้นที่ตามแนวชายแดนติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชา 3.กลุ่มผู้ลักลอบตัดไม้พะยูงชาวกัมพูชา จะลักลอบเข้ามาตัดในพื้นที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา ใน จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี และ 4.กลุ่มผู้ลักลอบตัดไม้พะยูงชาวลาว ซึ่งลักลอบเข้ามาตัดบริเวณ จ.อุบลราชธานี แล้วลักลอบ ขนกลับออกไปตามแนวชายแดน ปัจจุบันมีนายทุนจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานรับซื้อไม้พะยูงในฝั่งประเทศลาวเพื่อรวบรวมไม้พะยูงส่งไปยังประเทศจีน
ในปี 2556 กรมป่าไม้ จับกุมดำเนินคดีไม้พะยูงเกือบทุกวัน โดยพื้นที่ที่มีการจับกุมมากที่สุด คือ พื้นที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) 343 คดี ได้ผู้ต้องหา 183 ราย ได้จำนวนไม้ของกลาง 6,959 ท่อนหรือ 309.88 ลูกบาศก์เมตร ได้ไม้แปรรูป จำนวน 1,706.00 แผ่นหรือ 144.65 ลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ในพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นป่าพะยูงผืนสุดท้ายของประเทศไทย ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ก็อยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน
ขณะที่ในส่วนของกรมอุทยานฯ ไม่ต้องพูดถึงเอาแค่สติถิจับกุม 4 เดือน คือระหว่างเดือน ต.ค.2556-31 ม.ค.2557 ใน 31 ป่าอนุรักษ์ จับได้ถึง 783 คดี ได้ผู้ต้องหา 581 คน รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 262 ล้านบาท
นั่นแสดงให้เห็นว่าไม้พะยูงเป็นไม้หายาก มีความต้องการสูง ราคาสูงมาก ไม้พะยูงหนึ่งคิวหรือ 1 พันกิโลกรัม จะมีราคาเท่ากับ 1 ล้านบาท ยิ่งหากผ่านแดนออกจากประเทศไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ต้องการนำไม้พะยูงไปทำเครื่องประดับ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องดนตรี เทพเจ้าปี่เซี้ยะ ตุ๊กตา น้ำหอมระเหย ฯลฯ ราคาจะพุ่งขึ้นไปถึง 2-3 เท่าตัว
แน่นอน เมื่อมีความต้องการ แถมราคาสูง จึงเป็นแรงจูงใจอย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้ขบวนการตัดไม้พะยูงเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งเหิมเกริมหนักชนิดตัดกันทุกวัน และจับกันทุกวัน
“วันป่าไม้โลกปีนี้ กรมป่าไม้จะรณรงค์ให้ประชาชนและสังคมเห็นความสำคัญของไม้พะยูงและร่วมกันประณามต่อต้านนายทุนรวมทั้งขบวนการตัดไม้พะยูงทุกระดับตั้งแต่คนสั่งการไปถึงคนตัด เพราะระยะหลังๆ มีค่านิยมว่า การตัดไม้พะยูงทำได้ ถูกต้อง ทั้งที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขณะที่สถานการณ์ของไม้พะยูง แทบไม่มีเหลือแล้ว แม้แต่ในวัดก็ไม่เว้น ขณะนี้นอกจากกรมป่าไม้จะป้องกันปราบปรามเต็มที่แล้ว กำลังเจรจาและลงนามความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ กอ.รมน.เพื่อดำเนินคดีกับผู้ค้าให้เป็นคดีตัวอย่างทั้งการอายัดทรัพย์ คดีอาญา และคดีแพ่งไปพร้อมๆ กัน” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงมาตรการเฉียบขาดที่จะใช้จัดการกับพวกตัดไม้ทำลายป่า
ขณะเดียวกันวันป่าไม้โลก 21 มีนาคม กรมป่าไม้จะนำเจ้าหน้าที่ป่าไม้ลงพื้นที่ที่ จ.อุบลราชธานี พื้นที่ที่มีการตัดไม้พะยูงรุนแรงที่สุด โดยจะเดินทางไปที่ วัดสระบัว บ้านหนอง-ผือ ต.หนองผือ อ.เขมราฐ ที่ยังคงอนุรักษ์และดูแลรักษาไม้พะยูงไว้ในวัด จำนวน 250-300 ต้น และเดินทางไป วัดบ้านไทรย้อย ต.เขมราฐ อ.เขมราฐ ที่ไม่อาจต้านกระแสความต้องการไม้พะยูง ทำให้ต้นพะยูงในวัดถูกตัดโค่นลง เพื่อให้เห็นว่าไม้พะยูงที่อยู่ในวัดยังแทบเอาชีวิตไม่รอด รวมทั้งไปติดตามภารกิจการป้องกันและปราบปรามผู้ลักลอบกระทำผิดเกี่ยวกับไม้พะยูง ในพื้นที่อื่นๆด้วย พร้อมเปิดยุทธการปราบปรามขบวนการมอดไม้
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” เห็นด้วยที่กรมป่าไม้จะถือฤกษ์ดี วันสำคัญ 21 มีนาคม ในปีนี้ เป็นวันดีเดย์เริ่มภารกิจปราบปรามการตัดไม้พะยูงอย่างจริงจังและเฉียบขาด
แต่ที่เราอดห่วงไม่ได้คือที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามสารพัดวิธีเพื่อรักษาป่าไม้พะยูงที่ได้ชื่อว่าเป็นไม้มงคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์นี้ไว้ ทั้งด้วยการทำพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งการปราบปราม ฯลฯ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ นั่นหมายถึงภารกิจนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรือสามารถทำให้จบได้ภายในวันเดียว แต่เป็นภารกิจที่ต้องทำต่อเนื่อง
ที่สำคัญคือต้องทำอย่างเป็นระบบ ด้วยความจริงใจ และจริงจัง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการกำจัดขบวนการตัดไม้พะยูงให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย
เพราะประเทศไทยคือแหล่งสุดท้ายในโลกที่มีป่าพะยูงและไม้พะยูงเหลืออยู่ หากไม่สามารถรักษาไว้ได้ ก็หมายถึง กาลอวสานของป่าและไม้พะยูง.
...
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม