การฟื้น “พลังชุมชนท้องถิ่น” สู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยดำเนินมาเป็นลำดับ ด้วยความเชื่อที่ว่า...“ชุมชนท้องถิ่นคือฐานของประเทศไทย ถ้าฐานของประเทศไทยแข็งแรง ประเทศไทยทั้งหมดจะมั่นคง”
ประโยคข้างต้นเป็นคำกล่าวสุนทรพจน์ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ในเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 4 ประจำปี 2557
ก่อนหน้านี้คนไทยอาจไม่เคยมีความคิดเห็นตรงกัน ต่างฝ่ายต่างมีวัตถุประสงค์ของบุคคล ของกลุ่ม รวมทั้งองค์กร แล้วไปทอนกำลังกันเอง แต่บัดนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันหมดว่าต้อง...“ปฏิรูปประเทศไทย”
“ถ้าเราทำชุมชนท้องถิ่นให้แข็งแรงทั้งประเทศ จะเป็นการอภิวัฒน์ประเทศไทย เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอันยิ่งใหญ่” ซึ่ง ศ.นพ.ประเวศ มองว่าการปฏิรูปประเทศไทยที่สำคัญคือ การ “กลับรูป” ประเทศไทย
“เมื่อก่อนเราสนใจแต่ข้างบน เหมือนการสร้างพระเจดีย์จากยอดมันไม่สำเร็จ ไม่มีพระเจดีย์องค์ใดสร้างสำเร็จจากยอด พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน แล้วฐานพระเจดีย์คือพวกเราทุกคนที่อยู่ข้างล่าง อยู่ในชุมชนท้องถิ่น ถ้าฐานแข็งแรงก็จะรองรับข้างบน”
ศ.นพ.ประเวศ วะสี อดีตประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ได้นำเสนอเรื่องปฏิรูปประเทศไทยให้ได้ผลจริงตอนหนึ่งว่า...ปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ ส่วนใหญ่คือ “การขาดความเป็นธรรม” และ “ความเหลื่อมล้ำในสังคม”...ทั้ง 2 ปัญหานี้ เกิดจากปัญหาทางโครงสร้างทั้งสิ้น หากเราไม่ทำความเข้าใจใน 3 โครงสร้างใหญ่ โครงสร้างอำนาจ โครงสร้างสังคม โครงสร้างการจัดสรรทรัพยากร...การปฏิรูปประเทศไทยจะไม่เกิดผลสำเร็จ
เมื่อพูดถึงเรื่องการปฏิรูปชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ศ.นพ.ประเวศ มีความเชื่อมั่นในแนวทางที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันครั้งใหญ่ในงานนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมนับพันชีวิต แม้จะมีผู้ที่ไม่ได้มาอีกนับแสนหรือนับล้านคนที่ยังทำงานกันอยู่ในพื้นที่...
ลงไปข้างล่างแล้ว เกิดความสุข เห็นผู้คนทำเรื่องดีๆกัน แล้วรู้ว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน เห็นคนทำเรื่องดีๆ กันข้างล่างมากมาย ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
สาเหตุของปัญหาในเมืองไทย ศ.นพ.ประเวศ มองว่าเกิดจากโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม
“ระบบราชการนั้นรวมศูนย์อำนาจการปกครอง แล้วระบบการเมืองนั้นครอบงำระบบราชการอีกทั้งเนื้อทั้งตัว ส่วนประชาชนรากหญ้านั้นก็เป็นรากหญ้าจริงๆ เป็นหญ้าแพรก ไม่มีอำนาจ
...โครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม แล้วเสียสมดุล คือการที่รัฐมีอำนาจมาก แต่ประชาชนมีอำนาจน้อย ฉะนั้นก็ตรงไปตรงมา การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ คือการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน”
นั่นคือ คืนอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเอง ในรูปของชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง
เมื่อประชาชนสามารถจัดการตนเองได้ในเรื่องของชุมชนและท้องถิ่น อาจถือได้ว่านี่คือเนื้อแท้ของประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยในชุมชนถือเป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์ เป็นการอยู่ร่วมกัน และการร่วมมือกันอย่างสันติ ขณะที่ประชาธิปไตยระดับชาติเต็มไปด้วยเรื่องของอำนาจ เงิน มายาคติ และการต่อสู้ในเชิงรูปแบบ ขณะที่ข้างล่างเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกัน
“เพราะฉะนั้น ความถูกต้อง ต้องสร้างขึ้นมาจากข้างล่าง ข้างบนไม่สามารถสถาปนาความถูกต้องลงไปข้างล่างได้ เพราะข้างบนเป็นเรื่องของอำนาจ เป็นเรื่องของมายาคติ เป็นเรื่องของความฉ้อฉล เป็นเรื่องของความรุนแรง”
ศ.นพ.ประเวศ บอกว่า ประเทศไทยโชคดีที่ว่าชุมชนท้องถิ่นได้รวมตัวกันมานานหลายปีแล้ว และจะเป็นตัวสมานแผ่นดิน
ประเทศไทยมีหมู่บ้านทั้งสิ้นราว 80,000 หมู่บ้าน 8,000 ตำบล 77 จังหวัด ขณะนี้ 40-50 จังหวัดกำลังร่วมกันจัดทำธรรมนูญการจัดการตนเองของจังหวัด ถ้าทั้งหมดเกิดขึ้นเต็มพื้นที่จะสามารถเปลี่ยนประเทศ และจะเป็นการพลิกโฉมการเมืองไทย
จุดสำคัญที่ ศ.นพ.ประเวศ มองเห็นคือ ต้องทุ่มเททำเรื่องฐานข้อมูลและการสื่อสาร ต้องมีข้อมูลทั้งหมดว่าใครกำลังทำอะไรดีๆในทุกพื้นที่ แล้วทำการสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โซเชียลมีเดียทุกชนิด สามารถเชื่อมโยงให้คนทั้งประเทศได้เห็น แล้วจะช่วยส่งเสริมกำลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการขยายตัวเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
“ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะข้างล่างกำลังทำเรื่องดีๆ อันนี้เราต้องสื่อสารไปให้คนรู้ วันนี้เราต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วิธีคิด และจิตสำนึกใหม่ทั้งประเทศ ให้เห็นว่าข้างล่างสำคัญ และต้องพัฒนาขึ้นมาจากข้างล่าง”
สิ่งที่ถูกต้อง ต้องมาจากหน่วยย่อยที่สุด ถ้าเปรียบเป็นร่างกายก็คือเซลล์ แต่ถ้าระดับประเทศก็คือชุมชน ชุมชนเปรียบประดุจเป็นเซลล์ของสังคม แล้วมีความถูกต้องได้ง่าย ถ้าเราทำชุมชนให้ดีทั้งหมด ก็เหมือนเซลล์ทั้งหมดของสังคมไทย ว่าเป็นฐานของความถูกต้องขึ้นไป
น่าสนใจว่า...ขณะนี้ในแต่ละจังหวัดมีการเริ่มต้นสิ่งเหล่านี้ขึ้นบ้างแล้ว
1.รวมตัวทำธรรมนูญการจัดการตนเองของจังหวัด
2.นำธรรมนูญไปสู่การรับรู้อย่างทั่วถึงทุกตำบล
3.ศูนย์ประสานงานชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในจังหวัด
4.เนื้อหาในการพัฒนาพื้นที่เพิ่มขึ้นๆ
5.เวทีชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองทุกเดือนตามตำบลต่างๆ ฝ่ายประชาสัมพันธ์จังหวัดถ่ายทอดวิทยุ โทรทัศน์ ไปทั่วจังหวัด
6.สมัชชาจังหวัดจัดการตนเอง
7.สมัชชาชุมชนท้องถิ่นระดับชาติ
เหล่านี้จะเป็นการรวมพลังสติปัญญาท้องถิ่นทั้งหมดจากทั่วประเทศ ออกมาเป็นนโยบายที่คณะรัฐมนตรีต้องรับฟังและรับไปปฏิบัติ
นี่เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า กระชับพื้นที่ขึ้นไปจากข้างล่าง จากฐานที่แข็งแรง ถูกต้อง องค์พระเจดีย์ต้องเชื่อมกับฐานจึงจะมั่นคง ฉะนั้น องค์พระเจดีย์คือระบบต่างๆ ระบบเศรษฐกิจ การศึกษา การเมืองการปกครอง ต้องเชื่อมกับฐาน ซึ่งก็คือชุมชนท้องถิ่น แล้วตัวยอดพระเจดีย์คือความเป็นธรรม...
“ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แต่เป็นรูปเป็นร่าง เพราะทุกคนร่วมกันออกแบบเอาไว้ และเมื่อรวมเข้าด้วยกันทั้งหมดจะกลายเป็นพระเจดีย์แห่งการพัฒนาประเทศไทย”
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวทิ้งท้าย.
...