“อลงกรณ์” หนุน "ยิ่งลักษณ์" รับเจรจากับ "สุเทพ" ปลดล็อกปัญหาทางการเมือง เชื่อเป็นทางเดียวที่จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองคลี่คลายลง...

นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ถึงกรณีข้อเสนอเจรจาหาทองออกปัญหาทางการเมือง ระหว่าง นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ข้อเสนอเปิดเจรจากับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยให้มีการถ่ายทอดสดของนายสุเทพ เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรตอบรับ เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยอยากเห็น ตนเชื่อมั่นว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงและการสูญเสีย การเจรจาเป็นวิถีทางสันติที่จะสามารถหาทางออกให้กับวิกฤติการณ์ของประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ตนประเมินว่า การเจรจาหาทางออกให้กับประเทศระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย น่าจะเกิดขึ้นมากกว่า 2 ครั้ง ดังนั้น รูปแบบการเจรจาในครั้งแรกสามารถกำหนดให้ทั้ง 2 ฝ่าย นำเสนอความเห็นและข้อเรียกร้องต่อหน้าสาธารณชน โดยให้แต่ละฝ่ายนำเสนอพร้อมเหตุผลประกอบ และไม่ให้มีการวิจารณ์กัน แต่ให้นำข้อเสนอกลับไปเพื่อพิจารณา และกลับมาเจรจาร่วมกันอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 ภายใน 7 วัน 

ส่วนการเจรจาในครั้งที่ 2 ควรนำประเด็น ข้อเสนอที่เห็นตรงกันมาหาข้อสรุปร่วมกัน ก่อนจะนำเสนอประเด็นที่เห็นแตกต่าง พร้อมเหตุผลประกอบเพื่อให้นำกลับไปพิจารณา และเปิดการเจรจาในรอบที่ 3 โดยให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้นำเสนอประเด็นที่ยังมีความเห็นแตกต่าง พร้อมเหตุผล หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาโดยไม่ต้องถ่ายทอดสด เพื่อให้ถกเถียงกันได้อย่างเต็มที่

ขณะที่การเจรจาในรอบที่ 4 ทั้ง 2 ฝ่าย เสนอประเด็นที่มีความเห็นตรงกัน ก่อนนำเสนอประเด็นที่มีความเห็นต่างต่อสาธารณชน โดยเชิญนักวิชาการที่เป็นกลาง ร่วมแสดงความเห็นให้ 2 ฝ่ายพิจารณา  และกำหนดให้มีการเจรจาครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายนำประเด็นที่เห็นต่างมาหารือกัน โดยมีนักวิชาการที่เป็นกลาง ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างรอบด้าน

นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า การที่นายสุเทพในนาม กปปส. ยอมเจรจาตามข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือเป็นท่าทีที่สร้างสรรค์ และตนเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย ส่วนข้อกังวลว่าในการเจรจาที่มีการถ่ายทอดสดจะเป็นวิวาทะเหมือนการเจรจาระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์กับ นปช. ในอดีต นั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยรูปแบบใหม่ในการเจรจา โดยใช้วิธีเจรจาแบบสกัดประเด็นเห็นตรงกันออกมาก่อน และให้เวลากันและกันนำประเด็นเห็นต่างกลับไปพิจารณา โดยไม่รวบรัดแต่มีกรอบเวลา ซึ่งตนมองว่าน่าจะดีกว่าการเจรจในรูปแบบเดิม.

...