เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีผู้รัก และนิยมเลี้ยงสุนัขจำนวนมาก ติดอันดับท็อปเทนของโลก ข้อมูลจากเว็บไซต์ Dogilike.com ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ Globle Post ของสหรัฐอเมริกาอีกทอดระบุไว้ชัดว่า
เมื่อปี 2556 หรือปีที่แล้ว ประเทศไทยติด อันดับ 10 ของโลก ทั่วประเทศมีประชากรสุนัขรวมทั้งสิ้นประมาณ 6.9 ล้านตัว
สถิตินี้ร่วงลงมา 1 อันดับ เพราะเมื่อปี 2554 จากแหล่งข้อมูลเดียวกันระบุว่า เมืองไทยเคยคว้าอันดับ 9 ของโลกมาครอง ด้วยจำนวนประชากรสุนัขทั่วประเทศทั้งสิ้นราว 7 ล้านกว่าตัว
เทียบกับ โปแลนด์ เมื่อปี 2556 ได้เลื่อนอันดับขึ้นมาอยู่ ที่ 9 ของโลก แซงหน้าไทยไปด้วยสถิติมีประชากรสุนัขทั้งประเทศทั้งสิ้นราว 7.52 ล้านตัว
อันดับ 8 เป็นของ อิตาลี ทั้งประเทศมีสุนัขราว 7.6 ล้านตัว อันดับ 7 ฝรั่งเศส มีสุนัข 8.1 ล้านตัว อันดับ 6 แอฟริกาใต้ มี 9.14 ล้านตัว อันดับ 5 รัสเซีย มี 9.60 ล้านตัว อันดับ 4 ญี่ปุ่น มี 9.65 ล้านตัว อันดับ 3 จีน มีสุนัข 22.9 ล้านตัว อันดับ 2 บราซิล มีทั้งสิ้นประมาณ 30.1 ล้านตัว
ส่วน อันดับ 1 ของโลก ประเทศซึ่งมีประชากรสุนัขมากที่สุด แถมยังให้เกียรติสุนัขเทียบเท่ากับสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ยังคงเป็นแชมป์หลายสมัยอย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งสุนัขมีอยู่ทั้งสิ้นราว 61.1 ล้านตัว
ย้อนกลับมาที่เมืองไทย การที่สถิติจำนวนประชากรสุนัขลดจำนวนลงเล็กน้อย ช่วงระหว่างปี 2554-2556 ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจาก นโยบายส่งเสริมการทำหมันสุนัข ของกรมปศุสัตว์ ซึ่งทำให้เจ้าของสุนัขหลายคนตัดสินใจทำหมันให้แก่สุนัขของตน
อีกสาเหตุ น่าจะเป็นเพราะพฤติกรรมการย้ายถิ่นเข้ามาพักอาศัยในเขตเมืองของประชาชน ซึ่งมีพื้นที่จำกัด เช่น ตามคอนโดมิเนียม หรืออพาร์ตเมนต์ ที่ไม่อนุญาตให้มีสัตว์เลี้ยง
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เป็นอีกหน่วยงานที่ได้ทำการสำรวจจำนวนประชากรสุนัขใน กทม.เป็นระยะ โดยเมื่อปี 2549 สสช.ทำการสำรวจ สุนัขที่มีเจ้าของในกรุงเทพฯ จากครัวเรือนตัวอย่างทั้งสิ้น 36,000 ครัวเรือน ครอบคลุมทั่วทั้ง 50 เขตใน กทม.
พบว่าในขณะนั้นทั่วกรุงเทพฯ มีสุนัขซึ่งมีเจ้าของจำนวนทั้งสิ้น 823,504 ตัว ในจำนวนนี้มีเพียง ร้อยละ 20 ที่เจ้าของเลี้ยงไว้ภายในบ้าน และครึ่งหนึ่ง หรือ ร้อยละ 51.2 เลี้ยงสุนัขไว้เพียงบ้านละ 1 ตัว
มีเพียงเจ้าของสุนัข ร้อยละ 0.6 เท่านั้น ที่เลี้ยงสุนัขไว้บ้านละมากกว่า 10 ตัว โดยสัดส่วนของสุนัขที่เลี้ยงไว้เป็นเพศผู้ ร้อยละ 56.9 อีกร้อยละ 43.1 เป็นเพศเมีย
น่าสังเกตแม้ทุกวันนี้สุนัขที่มีเจ้าของจะลดจำนวนลง แต่ตามที่สาธารณะกลับมีสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้น สุนัขเหล่านี้ขาดการดูแล และไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า นี่คือสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้แต่ละปีมีคนไทยทั่วประเทศถูกสุนัขกัดปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ที่น่าเศร้าก็คือ ในนั้นมีสุนัขบ้ารวมอยู่ด้วย
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ยังคงเกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา โดยคาดว่าแต่ละปี ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ไม่ต่ำกว่า 55,000 ราย
เปรียบเทียบระหว่าง โรคเอดส์ ที่ว่าน่ากลัว เป็นแล้วตาย รักษาไม่หาย แต่ พ.ศ.นี้มียาต้านไวรัสฯ ผู้ที่กินยาต้านและประพฤติตัวดี ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อีกหลายปี
ส่วน โรคพิษสุนัขบ้า เป็นแล้วรักษาไม่หาย ตายเหมือนกัน ต่างกันตรงยังไม่มีตัวช่วยใดๆ เป็นแล้วรอวันตายอย่างโหดร้ายทรมาน ในสภาพมนุษย์หมาบ้า
เมืองไทยซึ่งอยู่ในข่ายประเทศกำลังพัฒนา แม้ภาพรวมปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าจะลดลงเป็นลำดับ แต่ผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ก็ยังไม่หมดไปจากประเทศไทย
กล่าวคือ เมื่อปี 2523 มีผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าเสียชีวิตจำนวน 370 ราย หลังจากรณรงค์กันอย่างหนัก ทำให้สถิติการตายลดฮวบลงมาเหลือเพียง 30 ราย ในปี 2545
ปี 2546 มีผู้เสียชีวิต 21 ราย ปี 47 จำนวน 19 ราย ปี 48 จำนวน 20 ราย ปี 49 จำนวน 26 ราย ปี 50 จำนวน 18 ราย ปี 51 จำนวน 8 ราย ปี 52 จำนวน 24 ราย ปี 53 จำนวน 9 ราย ปี 54 จำนวน 9 ราย ปี 55 จำนวน 7 ราย และปี 56 ทั่วประเทศยังคงมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้อีก 6 ราย
โฟกัสเฉพาะพื้นที่ในความรับผิดชอบของสำนักงานปศุสัตว์เขต 1 ครอบคลุม 9 จังหวัด มีกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยาชัยนาท อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และสิงห์บุรี ตั้งแต่ปี 2555 จนถึง ณ วันที่ 30 ม.ค.2557 มีสุนัขต้องสงสัยถูกส่งซากไปตรวจพิสูจน์จำนวน 362 ตัว
ตรวจพบว่า เป็นสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ารวมทั้งสิ้นถึง 22 ตัว โดยตัวล่าสุดที่เพิ่งตรวจพบเชื้อในปีนี้ เป็นสุนัขที่อยู่ในเมืองหลวง หรือกรุงเทพมหานคร
แม้ที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมืออย่างแข็งขันระหว่างกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ลงเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถปราบโรคนี้ได้อย่างเด็ดขาด
หนึ่งในปัญหาสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าดังเช่นนานาอารยประเทศ เป็นเพราะ การปล่อยปละละเลย หรือความไม่รับผิดชอบของผู้เลี้ยงสุนัข นั่นเอง
ทั้งละเลยไม่นำสุนัขที่เลี้ยงไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือกรณีที่ตัวเองขาดความพร้อมทางการเงินและสถานที่ แต่ดันทุรังที่จะเลี้ยง เมื่อเลี้ยงไปสักระยะแล้วไม่รอด หรือเบื่อที่จะเลี้ยงต่อ ใช้วิธีมักง่าย ผลักภาระให้สังคม ด้วยการนำสุนัขที่ไม่ต้องการไปปล่อย จนกลายเป็นสุนัขจรจัด
ฉะนั้น เพื่อมิให้การเลี้ยงสุนัขกลายเป็นปัญหาสังคม จึงมีข้อแนะนำก่อนตัดสินใจเลี้ยง
ข้อแรก ต้องรักจริง เลี้ยงจริง และ เลี้ยงอย่างรับผิดชอบ ถ้าท่านไม่มีคุณสมบัตินี้ อย่าเลี้ยง
ถัดมา ต้องคัดเลือกสายพันธุ์ หรือ ชนิดของสุนัขที่เลี้ยง ให้เหมาะสมกับครอบครัว
ข้อที่สาม ปฏิบัติต่อสุนัขด้วยความอ่อนโยน และ เมตตา จะช่วยให้สุนัขลดความดุร้ายลง สามารถเข้าสังคมได้ และไม่กัดคนอย่างไร้เหตุผล
ข้อสี่ ต้องเลี้ยงสุนัขให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งอาหาร ที่นอน และวัคซีน
ถัดมา ดูแลไม่ให้สุนัขของท่านไปก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
ข้อสุดท้าย ต้องฝึกสุนัขให้อยู่ในระเบียบ เชื่อฟังคำสั่งง่ายๆ เพื่อให้สุนัขของท่านสามารถอยู่ร่วมกับคนได้อย่างปลอดภัย
หากเจ้าของสุนัขทุกคนร่วมแรงร่วมใจทำได้ตามนี้อย่างเคร่งครัด วันหนึ่งวงจรโรคพิษสุนัขบ้าก็จะหมดไปจากเมืองไทย.
...