แอปเปิล ยอมคืนเงินรวมประมาณ 1 พันล้านบาท แก่ลูกค้าที่ลูกๆของพวกเขาดำเนินการซื้อสินค้าภายในแอพพลิเคชันผ่าน แอพ สโตร์ โดยที่พวกเขาไม่รู้เรื่องหรือไม่อนุญาต...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ว่า 'แอปเปิล' บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รายใหญ่ของโลก ยอมคืนเงินอย่างน้อย 32.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 พันล้านบาท) แก่ลูกค้าที่ลูกๆของพวกเขาดำเนินการซื้อ สินค้าภายในแอพพลิเคชัน (in-app purchase) บน 'ไอโฟน' หรือ 'ไอแพด' ของพ่อแม่ โดยที่พวกเขาไม่รู้เรื่องหรือไม่อนุญาต เพื่อยอมความกับคณะกรรมการกำกับดูแลการค้าแห่งชาติ (เอฟทีซี) ของสหรัฐฯ
นาง เอดิธ รามิเรซ ประธานหญิงของ เอฟทีซี กล่าวในแถลงการณ์ว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของแอปเปิล ถือเป็นชัยชนะของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการเก็บเงินอย่างไม่เป็นธรรมของแอปเปิล และเป็นการส่งสัญญาณต่อสังคมธุรกิจว่า ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจจากที่ห่างไกลหรือในร้านค้าบนถนน ต้องหลักเบื้องต้นในการปกป้องผู้บริโภค
ทั้งนี้ การคืนเงินในครั้งนี้ของแอปเปิลครอบคลุมเพียงลูกค้าที่ดำเนินการซื้อสินค้าในแอพผ่าน แอพ สโตร์ โซนอเมริกาเท่านั้น
...
ก่อนหน้านี้ เอฟทีซี ร้องเรียนว่า แอพพลิเคชันสำหรับเด็กหลายตัวของแอปเปิล มีการเสนอขายสินค้าเสมือนจริง และสิ่งของในแอพ ซึ่งต้องเสียเงินตั้งแต่ 0.99 - 99.99 ดอลลาร์สหรัฐ และกล่าวหาว่าแอปเปิลล้มเหลวในการแจ้งต่อผู้ปกครองว่า ด้วยการใส่รหัสผ่านอนุญาตให้ซื้อสินค้าเสมือนจริงในแอพเพียงตัวเดียว เด็กจะมีเวลาอีก 15 นาทีในการซื้อสินค้าอย่างไม่จำกัด โดยไม่ต้องอากาศรหัสผ่านของผู้ปกครอง
ในช่วงที่ผ่านมา เคยมีลูกค้ารายหนึ่งร้องเรียนมายังแอปเปิลว่า ลูกสาวของเธอจ่ายเงินซื้อสินค้าในแอพพลิเคชันเกม 'Tap Pet Hotel' ไปถึง 2,600 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 85,000 บาท) ขณะที่รายอื่นๆ ผู้ปกครองต้องเสียเงินสูงสุดไม่เกิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 16,300 บาท) ไปกับการใช้จ่ายภายในแอพของลูกๆโดยที่พวกเขาไม่รู้
อย่างไรก็ตาม แอปเปิลทยอยคืนเงินแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ก่อนที่จะถูกร้องเรียนโดยเอฟทีซีแล้ว โดยเมื่อปีก่อน แอปเปิลอีเมลไปหาลูกค้า 28 ล้านคนเพื่อรับฟังปัญหา และได้รับการร้องเรียนว่าเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นจำนวน 37,000 กรณี และทั้งหมดได้รับการคืนเงินเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เอฟทีซีระบุว่า แอปเปิลสัญญาจะปรับปรุงกระบวนการเก็บเงิน โดยจะกำหนดให้ต้องสอบถามความยินยอมจากผู้ซื้อทุกครั้ง ก่อนที่การซื้อสินค้าในแอปจะเกิดขึ้น โดยมาตรการนี้จะเริ่มใช้ในวันที่ 31 มี.ค.