นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างเสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.... ซึ่งล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเสนอต่อสาธารณะเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 1-2 เดือนนี้ โดย ตนมีความมั่นใจว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีสภาพคล่องหมุนเวียนดีขึ้น และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินให้แก่ภาคเอกชนได้อีกนับล้านล้านบาท
นายอภิศักดิ์กล่าวว่า การเสนอ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเหตุผลเพื่อต้องการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยต้องสร้างแรงจูงใจและความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน หรือนักธุรกิจที่จะนำเงินมาลงทุน หรือเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยให้มีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นได้ นอกเหนือจากกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิการเช่าในอสังหาริมทรัพย์
“กฎหมายในปัจจุบันกำหนดการเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (เช่าที่อยู่อาศัย) มีระยะเวลาในการเช่าไม่เกิน 30 ปี และต่อได้อีก 1 ครั้ง ไม่เกิน 30 ปี ขณะที่ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 เป็นการเช่าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยมีระยะเวลาการเช่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี และต่อเวลาการเช่าได้อีก 50 ปี จึงเกิดความแตกต่างระหว่าง การเช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัยกับการเช่าที่ดินเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม”
ทั้งนี้ การเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุว่า สัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า เมื่อผู้เช่าตายสัญญาเช่าจะระงับลง ห้ามการเช่าช่วง โอนสิทธิการเช่า และการนำสิทธิการเช่าไปเป็นหลักประกัน ส่วนการเช่าตาม พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม มีบทบัญญัติรองรับให้นำสิทธิการเช่าไปเป็นประโยชน์ในเรื่องต่างๆได้ เช่น การนำสิทธิการเช่าไปเป็นหลักประกัน การให้เช่าช่วง สิทธิการเช่าสามารถตกทอดแก่ทายาทได้ แต่ต้องดำเนินการเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่สามารถใช้กรณีการเช่าเพื่อที่อยู่อาศัยได้ รวมทั้งผู้เช่าจะไม่สามารถทำการดัดแปลงหรือต่อเติมทรัพย์สินที่เช่าได้ ดังนั้น เพื่อให้สามารถใช้อสังหาริมทรัพย์ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น กระทรวงการคลัง จึงต้องยกร่างกฎหมายใหม่เพื่อแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว.
...