นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยปี 2566 ว่า การเปิดตัวโครงการใหม่ 98,132 หน่วยลดลง 10.5% มูลค่า 505,235 ล้านบาท ลดลง 8.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน เช่นเดียวกับการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ 352,761 หน่วย ลดลง 10.2% มูลค่า 1.01 ล้านล้านบาท ลดลง 4.5% สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วประเทศ 650,764 ล้านบาท ลดลง 6.8% สินค้าที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างทั่วประเทศ 4.95 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% ส่วนการออกใบอนุญาตจัดสรรใหม่ 78,269 หน่วย ลดลง 9.3%

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจอสังหาฯลดลง เป็นผลจากภาวะหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูงถึง 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทำให้สถาบันการเงินพิจารณาสินเชื่ออย่างเข้มงวด และกลุ่มมีรายได้น้อย-ปานกลางยังเข้าถึงได้ยาก ขณะที่ตลาดระดับบนมีจำนวนความต้องการน้อยกว่ามาก ส่วนทิศทางดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น อาจสูงถึง 0.75-1% แต่รายได้ของประชาชนไม่ปรับตัวขึ้น ทำให้ความสามารถการซื้อและการกู้ลดลง

“ขณะนี้ราคาบ้านยังปรับเพิ่มขึ้น ผลจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างและราคาที่ดินที่ขยับเพิ่มราว 5-10% ซึ่งจะกระทบต่องวดการผ่อนชำระ ส่วนพฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ จะเน้นบ้านแฝดเป็นหลัก เพราะราคาถูกกว่าบ้านเดี่ยวแต่พื้นที่ใกล้เคียง ขณะที่ทาวน์เฮาส์นั้น ความต้องการลดลง เพราะคนต้องการบ้านที่มีพื้นที่ ส่วนคอนโดมิเนียม ยังคงเป็นต่างชาติที่มีกำลังซื้อ โดยจีน รัสเซีย สหรัฐฯ อังกฤษ ตามลำดับ แต่ที่น่าสนใจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่เข้ามาซื้อคอนโดและมีการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้น คือ เมียนมา กัมพูชา และอินเดีย ซึ่งการเข้ามาซื้อคอนโดของต่างชาติ ถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะจะมีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ”.

...