นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่อยู่อาศัยในปี 2566 มีโอกาสติดลบสูง เนื่องจากยอดโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายจะมีเพียง 352,761 หน่วย ลดลงจากปีก่อน 10.2% และหากคิดเป็นมูลค่าแม้จะมีกว่า 1.01 ล้านล้านบาท ลดลง 4.5% ซึ่งเป็นการลดลงทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง แยกเป็นบ้านแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด อาคารพาณิชย์ ทาวน์เฮาส์ ลดลง 7.4% และอาคารชุดพักอาศัย ลดลง 17.7% ขณะที่ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ปี 66 มี 650,764 ล้านบาท ลดลง 6.8% เช่นกัน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยติดลบนั้น เนื่องจากเผชิญปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าในหลายด้าน โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรการผ่อนปรนการกำกับดูแลสินเชื่อ (แอลทีวี) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งกระทบต่อคนที่ต้องการมีการซื้อสำหรับการอยู่อาศัยและการลงทุน ที่เป็นบ้านสัญญาที่ 2 และ 3 ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30% ของตลาด อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการลดมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ที่ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 0.01% เหลือเพียง 1% ประกอบกับปี 2566 เป็นช่วงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น อาจสูงถึง 0.75-1.0% รวมถึงราคาที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และที่สำคัญมีการเร่งโอนซื้อขายในช่วงปลายปีที่แล้วค่อนข้างมาก ทำให้เกิดการดึงกำลังซื้อในอนาคตมา และกระทบต่อยอดขายในครึ่งแรกของปี 2566 อย่างชัดเจน
นายวิชัยกล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดตัวที่อยู่อาศัยในปี 2566 ยังมีภาวะทรงตัว หรือชะลอลงเล็กน้อย เนื่องจากได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2564 โดยหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศ มี 78,269 หน่วย เพิ่มขึ้น 0.3% โดยใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย 300,228 หน่วย ลดลง 8.4% แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบ 246,504 หน่วย และอาคารชุด 53,724 หน่วย.
...