เศรษฐา แสนสิริ เสนอรัฐยกเลิก LTV จี้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำอีก เพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน กำลังซื้อจะกลับมา เล็งช่วยผู้ประกอบการอสังหาฯ ระดับกลาง และเล็ก ด้วยการซื้อที่ดิน และโครงการบ้าน พยุงเพื่อนร่วมธุรกิจ 

วันที่ 21 ม.ค. 64 นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ Sansiri เปิดเผยว่า โควิด-19 ถือเป็นอภิมหาวิกฤติที่กระทบคนทั่วโลก ส่งผลให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปเยอะมาก เรื่องใหญ่ใครจะคิดว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำขนาดนี้ เมืองไทยมีนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ ท่องเที่ยวการบินมีคนตกงาน เราใช้ชีวิตแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว

ทั้งนี้ ในปี 2020 GDP ของไทยติดลบถึง -6.6% ลบไม่เท่าวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นยาวกว่า ลึกกว่า แก้ไขยากกว่า ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น กำลังซื้อลดลง ค่าเงินบาทที่แข็งกระทบส่งออก ภาคการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเองก็มีมาตรการออกมามากมาย บางอันก็โอเค แต่บางนโยบายกลับไม่โอเค ซึ่งธุรกิจ SME ถือว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้า การที่รัฐบาลออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan นั้นเป็นไอเดียที่ดี แต่การปฏิบัติมีปัญหา เพราะ SME สามารถเข้าได้ถึง 1 ใน 3 เท่านั้น และล่าสุดก็เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังปรับปรุงเงื่อนไขดังกล่าวอยู่

ภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เองก็ต้องพึ่งพากำลังซื้อเป็นหลัก เมื่อกำลังซื้อหด คนตกงาน ธุรกิจของเราก็ไม่ดี ซึ่งที่ผ่านมายังมีปัญหาเก่าๆ เช่น มาตรการ LTV หรือดอกเบี้ยสูงอยู่

"เหตุผลที่รัฐทำ LTV ออกมาเพื่อต้องการกำจัดการเก็งกำไรของการซื้ออสังหาฯ ผมถามตรงๆ ว่า ถ้าตอนนี้เราพูดถึงการเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯ ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องตลก เพราะตอนนี้ไม่มีกินไม่มีใช้อยู่แล้ว คงไม่มีใครเก็งกำไรอสังหาฯ ผมแนะนำให้ยกเลิกเถอะ ต้องยกเลิก อสังหาฯ เป็นธุรกิจที่มี Multiplier Effect สูงมาก ถ้าคุณซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ซื้อทาวน์เฮาส์ แน่นอนว่าธุรกิจสี ซีเมนต์ เหล็ก เฟอร์นิเจอร์ แอร์ หรือเครื่องครัว ก็จะมาเพราะเป็นธุรกิจต่อเนื่องก็จะไปกันได้"

...

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า โควิด-19 หรือมาตรการที่ไม่ชัดเจน เหมือนอาวุธสงครามที่กระหน่ำใส่คนไทย โดนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับสูง ระดับกลาง หรือระดับล่าง ตลาดอสังหาริมทรัพย์เองก็โดนลูกใหญ่ ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ใครปรับตัวได้เร็วกว่า ใช้หลัก speed to market ก็รอด และโตสวนกระแสได้ เพราะบ้านถือเป็นปัจจัย 4 มีดีมานด์จริง ลูกค้าแค่รอเวลา รอจังหวะ รอโปรโมชันที่เหมาะสม ทำให้เขาเข้าถึงการซื้อขายบ้านได้ โดยไม่ต้องพะวงถึงสภาพเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจปี 2021 นั้น เราต้องมองย้อนกลางปีที่ผ่านมา เราบริหารจัดการเรื่องโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้ยอดติดเชื้อแทบไม่มีเลย แต่การระบาดของโควิดระบาดใหม่ จากบ่อน กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามา ทำให้ความไม่แน่นอนมีสูงมาก ตราบใดที่มีโควิด-19 ซึ่งส่วนตัวเชื่อมั่นเรื่องระบบสาธารณสุขไทย และสามารถจัดการกับโควิดได้

เมื่อความผันผวนเดี๋ยวมาเดี๋ยวไปแบบนี้ เช่น การล็อกดาวน์ หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง วันนี้ไม่มีใครกล้าพูดว่าปีนี้จะดีกว่าปีที่ผานมา เพราะความไม่แน่นอนตรงนี้ เรื่องวัคซีนถือเป็นความหวังของคนไทยสูงสุดตอนนี้ แต่ก็ยังมีดราม่ามาดิสรัปต์ตลอดเวลาว่าค่ายไหนดี ค่ายไหนไม่ดี ทั่วถึงไหม ถามว่าเป็นความหวังสูงสุดหรือเปล่าไม่รู้ เราก็ต้องเตรียมตัว

"ผมเชื่อว่ากำลังซื้อจะไม่กลับมาใน 12-18 เดือนข้างหน้า ที่ผ่านมาก็ยังดีใจที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 2 แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ ชิมช้อปใช้ คนละครึ่ง ซอฟต์โลน เหล่านี้ก็ถือว่าดี แต่ก็อยากเห็นอีก อยากเห็นดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ผมพูดมานานแล้ว มาตรการชิมช้อปใช้ หรือ คนละครึ่ง เป็นการเอาเงินใส่กระเป๋า แต่การลดดอกเบี้ยเป็นการให้เงินอยู่ในกระเป๋า ทำเถอะครับ แม้จะบอกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่ำแล้ว แต่ก็ยังลดลงได้อีก ลดเถอะครับ ความรู้สึกที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือนค่อนข้างเจ็บปวด ถ้าลดไปสักหน่อย ผมว่ากำลังซื้อจะกลับมา เราก็จะอยู่ได้ ไม่ต้องใช้งบประมาณด้วยนะ"

แสนสิริโตได้แม้มีโควิด-19  

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ในปี 63 ที่ผ่านมา ยอดการขาย และโอนโครงการ เราทำได้ตามเป้าหมาย 35,000 ล้านบาท ปิดการขายโครงการที่อยู่อาศัยไปถึง 35 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 64,600 ล้านบาท สะท้อนการบริหารจัดการสต๊อกที่อยู่อาศัยที่ดี ขายสินค้าสร้างเสร็จได้มาก

...

นอกจากนี้ บริษัทยังมีผลงานการโอนที่โดดเด่นทั้งในแนวราบและแนวสูง โดยมียอดโอนโครงการที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่สร้างเสร็จ และส่งมอบให้กับลูกค้าไปถึง 45,000 ล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อนถึง 45% เกินเป้าหมาย และสร้างประวัติศาสตร์การโอนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของแสนสิริที่เคยทำได้ในรอบ 36 ปี

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2021 ของแสนสิรินั้น เราตั้งเป้าพัฒนาโครงการใหม่ไว้ 24 โครงการ รวมมูลค่า 26,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่เปิดตัวโครงการใหม่ไปทั้งสิ้น 12 โครงการ มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท ในแผนปีนี้แบ่งเป็นการพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว 7 โครงการ มูลค่ารวม 12,300 ล้านบาท

รวมถึงทาวน์โฮมและมิกซ์ โปรเจกต์ 12 โครงการ มูลค่ารวม 9,600 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 5 โครงการ มูลค่ารวม 4,100 ล้านบาท อยู่ในเซกเมนต์ Affordable และ Medium เป็นหลัก เพื่อให้แสนสิริเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงง่าย

ขณะเดียวกัน เราจะขยายฐานลูกค้าในเซกเมนต์ Luxury ด้วยสินค้าใหม่ ทั้งทาวน์โฮมและบ้านเดี่ยว 3 ชั้นภายใต้แบรนด์ใหม่ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายในปี 2021 นี้ได้ 26,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเป้ายอดขายแนวราบ 16,000 ล้านบาท

...

เป้ายอดขายคอนโดมิเนียม 10,000 ล้านบาท รวมทั้งวางเป้าหมายการโอนไว้ 27,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเป้าโอนโครงการแนวราบ 16,000 ล้านบาท และเป้าโอนคอนโดมิเนียม 11,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน แสนสิริยังมียอดขายรอโอนรองรับการเติบโตระยะยาวในอีก 3 ปี อีกถึง 27,700 ล้านบาท ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจได้เป็นอย่างดี และเสริมความแข็งแกร่งในทุกสภาวะเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ แสนสิริเองก็กำลังจอยกับพาร์ทเนอร์รายใหญ่ในกลุ่มธุรกิจอาหาร คาดว่าจะเปิดตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ เพื่อสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ คาดว่าจะเป็นแคมเปญที่สนุก มีสีสัน และเข้าถึงง่ายให้กับลูกค้าอีกด้วย

เล็งช่วยอสังหาฯ ระดับกลาง และเล็ก

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องอาศัยสายป่านที่ยาว และอิงกับสภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก ในภาวะเช่นนี้อาจมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลาง และขนาดเล็กอาจจะเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแบรนด์ การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ การบริการหลังการขาย ซึ่งด้อยกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ลงมาสู้ในทุกๆ ตลาด รายกลาง และรายเล็ก จึงเหนื่อยมาก ปีนี้เราจะได้เห็นผู้ประกอบการอสังหาฯ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จะนำโครงการ หรือที่ดินออกขาย เมื่อแสนสิริมีความแข็งแกร่งด้านการเงิน ก็เป็นโอกาสในการเลือกซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ได้

...

"ตรงนี้ไม่ใช่แค่เป็นผลดีต่อแสนสิริ แต่เป็นผลดีต่อสังคมและเศรษฐกิจในภาพใหญ่ด้วย เพราะช่วยไม่ให้เกิดหนี้เสียเข้าสู่ระบบ และช่วยพยุงเพื่อนร่วมธุรกิจที่เป็นบริษัทขนาดเล็ก-ขนาดกลางให้ยังอยู่รอดได้ ไม่ต้องปิดตัว ก้าวต่อไปด้วยกันได้"

  • LTV หรือ loan-to-value ratio คือ มาตรการที่กำหนดวงเงินที่ผู้กู้จะกู้ซื้อบ้านได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ยกตัวอย่างไว้ ดังนี้ หากบ้านราคา 2 ล้านบาท กำหนดให้ LTV เท่ากับ 90% หมายความว่า เราจะกู้เงินเพื่อซื้อบ้านได้เพียง 1.8 ล้านบาท (90% x 2 ล้าน) และต้องวางเงินดาวน์อีก 2 แสนบาท สำหรับส่วนที่เหลืออีก 10% ของราคาบ้าน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ ผู้ที่กู้ซื้อบ้าน 2 หลังเป็นต้นไป แต่ยังผ่อนไม่หมด และผู้ที่กู้ซื้อบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป (อ่านข้อมูลเพิ่มเติม ที่นี่)