ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยตลาดที่อยู่อาศัยไตรมาส 3 เริ่มฟื้น ผู้ประกอบการเชื่อมั่น แห่เปิดตัวโครงการใหม่ 20,965 หน่วย แถว “ลำลูกกา–คลองหลวง–ธัญบุรี–หนองเสือ” มากที่สุด คาดปี 64 ตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2563 ส่งผลต่อภาคการลงทุนในธุรกิจที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 อย่างไรก็ตามหลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ และผู้ประกอบการต้องปรับตัวโดยการลดราคาหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ

ส่งผลทำให้ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยของไตรมาส 3 มีจำนวนทั้งสิ้น 93,230 หน่วย มูลค่า 246,066 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 17.1% และยังมีการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 จำนวน 20,965 หน่วย โดยเฉพาะแนวราบ หลังเร่งระบายสต๊อกในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ผลการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสะสม 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวนทั้งสิ้น 261,855 หน่วย มูลค่า 668,936 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปีก่อน 7.9% ซึ่งอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี ทั้งนี้ พบว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบทั้งสิ้นจำนวน 180,322 หน่วย มูลค่า 458,280 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า 6.1% ส่วนอาคารชุดมีจำนวนทั้งสิ้น 81,533 หน่วย มูลค่า 210,656 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า 11.6% โดยพบว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ประเภทบ้านใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 131,303 หน่วย มูลค่า 425,134 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า 5.5% และบ้านมือสอง ทั้งสิ้น 130,552 หน่วย มูลค่า 243,802 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า 10.2%

...

“คาดการณ์ว่า ปี 2563 แนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะอยู่ที่ประมาณ 351,640 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 862,500 ล้านบาท มีการปรับตัวลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า 10.3% และ 7.3% ตามลำดับ”

ขณะที่การเปิดตัวโครงการใหม่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยอดสะสม 9 เดือน พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 50,781 หน่วย มูลค่า 228,949 ล้านบาท มีการปรับตัวลดลง 20.9% ซึ่งเป็นการลดลงของโครงการอาคารชุดมากถึง 41.8% ขณะที่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น 3.5%

ส่วนทำเลที่มีโครงการเปิดตัวใหม่สะสมมากที่สุดในช่วง 9 เดือนแรก จำนวน 5 ทำเล ประกอบด้วย 1.ลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ จำนวน 6,153 หน่วย 2.เมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก จำนวน 4,677 หน่วย 3.บางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย จำนวน 4,210 หน่วย 4.เมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด จำนวน 3,799 หน่วย และ 5.บางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง จำนวน 3,495 หน่วย โดยกลุ่มราคาที่มีการเปิดตัวใหม่สูงสุดคือระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 มีปัจจัยบวกที่เพิ่มเข้ามาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของรัฐบาล ดอกเบี้ยในระดับต่ำ และการปรับตัวของผู้ประกอบการ โดยคาดว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 353,236 หน่วย มีมูลค่า 876,121 ล้านบาท ในปี 2564 หรือสูงสุดไม่เกิน 383,272 หน่วย มีมูลค่าสูงสุดไม่เกิน 950,591 ล้านบาท นอกจากนี้ คาดว่าจะมีโครงการเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2564 เพิ่มเป็น 88,828 หน่วย มีมูลค่า 400,306 ล้านบาท หรือสูงสุดไม่เกิน 102,151 หน่วย มูลค่า 448,559 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.3% และสูงสุด 42.9% เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมากในปี 2563

“ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯมองว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 จะค่อยๆมีการขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปีนี้และจะปรับตัวดีขึ้นชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2564 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ”.