นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษากำหนดยุทธศาสตร์การบริหารพื้นที่และติดตามกำกับนโยบายการจัดการรายได้จากทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์-อสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีสัญญาที่เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ของ รฟท.ทั่วประเทศ ณ 30 เม.ย.63 กว่า 32,000 ไร่หรือกว่า 6,042 สัญญากับสำนักบริหารทรัพย์สิน รฟท. แบ่งเป็นสัญญาเช่าอาคาร 3,106 สัญญา, สัญญาเช่าที่ดิน 2,936 สัญญา ทำให้ รฟท.มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 2,858 ล้านบาท

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารทรัพย์สินของ รฟท.เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น คณะทำงานฯจะเข้ามาจัดระเบียบและกำหนดกรอบการจัดการทรัพย์สินเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมั่นใจว่าหากดำเนินการสำเร็จ จะสามารถสร้างรายได้ให้ รฟท.ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่าปีละ 10% โดยได้สั่งการให้ รฟท.ไปรวบรวมข้อมูลแปลงที่ดินอสังหาฯทั่วประเทศว่ามีแปลงที่ใช้ประโยชน์เท่าไร, สถานะของสัญญาเช่าและ สถานะเวลาของการให้เช่า, การบุกรุกพื้นที่มีที่ไหนบ้าง รวมถึงสถานะที่มีการใช้ประโยชน์โดยไม่มีการจ่ายค่าเช่าให้ รฟท. เพื่อนำมาพิจารณาในการประชุม ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ เพื่อให้คณะทำงานฯชุดนี้สามารถกำหนดกรอบการดำเนินการให้เกิดความชัดเจน ในการสร้างมูลค่าให้กับอสังหาริมทรัพย์ของ รฟท.เพิ่มขึ้น เพื่อให้ รฟท.นำรายได้มาบริหารจัดการ ภารกิจของ รฟท.ให้อยู่ได้แบบยั่งยืนต่อไปในอนาคต และไม่เป็นภาระกับรัฐบาล

นอกจากนี้ ในส่วนของการประเมินราคาที่ดินนั้น ควรให้ รฟท.หาวิธีประเมินราคาที่ดินใหม่ แม้ที่ดินของ รฟท.จะไม่มีโฉนดที่ดิน แต่สามารถนำราคาประเมินที่ดินจากกรมธนารักษ์มาเทียบได้ และนำมาเปรียบเทียบกับที่ดินข้างเคียงของเอกชน ซึ่งจะทำให้ รฟท.มีความคล่องตัวในการปฏิบัติมากขึ้น และหากแปลงมีสิ่งปลูกสร้าง ควรจ้างบริษัทหรือธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน เพื่อให้มีความถูกต้องแม่นยำ โดยให้ รฟท.ไปจัดทำแผนปฏิบัติการในเรื่องนี้มาด้วย.

...