นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังเกณฑ์ใหม่ควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ติดลบ 16% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบติดลบน้อยกว่าแนวสูง หรือคอนโดมิเนียม เนื่องจากส่วนใหญ่ซื้อเพื่ออยู่จริง ไม่ได้ปล่อยเช่าหรือเก็งกำไร

ทั้งนี้ ประเมินว่าปีนี้ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีมูลค่า 510,000 ล้านบาท ติดลบ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยที่อยู่อาศัยแนวราบ ติดลบ 4% คอนโดมิเนียมมีโอกาสติดลบ 20% และพบว่าบ้านแฝด มีส่วนช่วยพยุงตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้รับความนิยมมากขึ้น มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านแฝดเติบโต 30% ขณะที่ทาวน์เฮาส์ขยายตัว 7% บ้านเดี่ยวและตึกแถวอยู่ในภาวะหดตัว ส่วนคอนโดมิเนียมที่ยอดโอนปรับตัวลดลงมาก เกิดจากไตรมาส 4 ปีก่อนมีการเร่งโอน ประกอบกับผู้ซื้อชาติส่วนใหญ่เป็นคนจีน เมื่อ จีนประสบปัญหาค่าเงินหยวนอ่อนตัว ทำให้ยอดซื้อคอนโดชะลอตัวลง โดยคนจีนที่จองซื้อคอนโดมิเนียมมีการทิ้งเงินดาวน์เพิ่มขึ้น

“ช่วง 5 เดือนแรกการโอนกรรมสิทธิ์บ้านแฝดเติบโตต่อเนื่องที่ 9% สูงกว่าตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมราว 2 เท่า ด้วย 4 จุดเด่น ได้แก่ การใช้งานและความเป็นส่วนตัวไม่ต่างจากบ้านเดี่ยว แต่ราคาถูกกว่าถึง 30% เมื่อเทียบกับคอนโดมิเนียมขนาดครอบครัว บ้านแฝดมีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าและใช้เงินดาวน์น้อยกว่า ขณะที่ทำเลที่ไม่ไกลจากแนวรถไฟฟ้า อีกทั้งปัจจุบันบ้านแฝดมีตัวเลือกที่มากขึ้นและคุณภาพที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หันมาพัฒนาบ้านแฝดมากขึ้น คาดว่าในปี 2562-2563 จะมียูนิตในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปิดขาย 6,500-7,500 ยูนิต หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 18%”

...