นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยรวมปี 2562 คาดจะเติบโต 4-5% ซึ่งลดลงจากปี 2561 ที่เติบโต 7% เหตุผลมาจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และมาตรการกำหนดอัตราสินเชื่อต่อมูลค่าที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ที่มีผลบังคับใช้ส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มซื้อเพื่อเก็งกำไรหายไป

“ในปีนี้คาดว่าแนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์กรุงเทพฯ ปริมณฑล จะอยู่ที่ 145,300-177,600 ยูนิต ด้านมูลค่าการโอนอยู่ที่ 431,900-527,900 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนมีจำนวนยูนิตลดลง 17.9% และมูลค่าลดลง 15.1%”

นายกิตติ กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นโอกาสดีของคนที่อยากมีบ้าน โดยเฉพาะใครที่มองหาบ้านมือสอง เพราะเหล่าธนาคารพาณิชย์จะระบายทรัพย์สินรอการขาย ณ ธ.ค.2562 อยู่ที่ 138,511 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 93,065 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก

ระบายออกมาแล้ว 92,528 ล้านบาท โดยปัจจุบัน ณ มิ.ย.2562 ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลรวมอยู่ที่ 3.11% ต่อสินเชื่อรวม หรือ 447,027 ล้านบาท

“ในส่วนของประเด็นแอลทีวี ผมมองว่าเป็นมาตรการที่ดี เพราะจะทำให้คนไทยระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น รู้จักการออมเพื่อซื้อทรัพย์สิน ไม่ก่อหนี้เกินตัว รวมถึงประเด็นผู้กู้ร่วม เพราะที่ผ่านมามีการหาผู้มากู้ร่วม ก็เพื่อต้องการให้ธนาคารอนุมัติสินเชื่อ แต่ถึงเวลาผ่อนไม่ไหวก็มีเยอะ”

ทั้งนี้ หากเทียบกับต่างประเทศมาตรการของไทยถือว่าไม่เข้มข้น เช่น ที่ปักกิ่ง ไต้หวัน ซื้อบ้านหลังแรกต้องวางเงินดาวน์ 30% เกาหลีใต้ 30-60% มาเลเซีย 20% แต่มาเลเซียมีประเด็นที่น่าสนใจคือ เขาแก้ปัญหาเรื่องบ้านผู้มีรายได้น้อย โดยมีข้อบังคับให้ผู้ประกอบการต้องทำที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย 20-30% จากจำนวนโครงการเปิด

...

นายอลงกต บุญมาสุข เลขาธิการสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า พบว่าคนต้องการมีบ้านศึกษาหาข้อมูลผ่านออนไลน์เป็นจำนวนมาก โดยเรื่องหลักๆจะเป็นเรื่องการขอสินเชื่อ มาตรการแอลทีวี โดยผู้ที่ค้นหาจะอายุเฉลี่ย 25-44 ปี โดยทำเลที่มีคนสนใจเยอะคือ คลองหลวง เมืองนนทบุรี ปากเกร็ด ส่วนใหญ่ยังเป็นในกลุ่มที่มองหาที่อยู่ประเภทบ้านแนวราบเป็นหลัก.