เตือนสตินายแบงก์อย่าปล่อยสินเชื่อ “ฟองสบู่”

ผู้ว่าการ ธปท.ชูธนาคารเพื่อความยั่งยืน ให้สินเชื่อหนุนธุรกิจที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค-เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม และเลี่ยงให้กู้ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง “ทุจริตคอร์รัปชัน” กระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม ชี้การปล่อยกู้ต้องรับผิดชอบ ไม่ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่กำลังเป็นวิกฤติในวงจรชีวิตคนไทย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในวาระครบ 20 ปี หัวข้อเรื่อง “Formulating for the Future of Corporate Governance” in Finance and Beyond ว่า ที่ผ่านมาเราเห็นภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ใส่ใจเรื่องธรรมาภิบาล ในแง่ของการให้ความสำคัญกับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไปมากขึ้น เรื่องดังกล่าวมีผลต่อความยั่งยืนของภาคธุรกิจ เพราะผลข้างเคียงต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม สามารถย้อนกลับมากระทบกับธุรกิจได้อย่างรุนแรง

จึงขอยกตัวอย่าง 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เหตุการณ์แรกคือ ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ โดยต้นเหตุของไฟไหม้ป่าอาจเกิดจากที่บริษัท Pacific Gas & Electric (PG&E) ที่เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในรัฐแคลิฟอร์เนียละเลยมาตรการด้านความปลอดภัยบางอย่าง เหตุการณ์ที่สอง เกิดขึ้นที่บราซิลเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เขื่อน Brumadinho ที่เป็นเขื่อนที่มีไว้สำหรับเก็บกักของเสียที่เกิดจากการทำเหมืองแร่เหล็กได้พังลง มีผู้เสียชีวิต 235 ราย โดยสาเหตุที่เขื่อนพังทลายลงเกิดจากที่บริษัท Vale ประหยัดต้นทุนการก่อสร้าง

สำหรับเหตุการณ์สุดท้ายเป็นเรื่องใกล้ตัวในประเทศไทย เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวและแข่งขันกันสูงมาก ส่งผลให้มีการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนโดยไม่ได้อยู่อาศัยจริงเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารพาณิชย์แข่งขันกันปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น รวมทั้งพบพฤติกรรมการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินที่สูงกว่ามูลค่าที่ลูกค้าซื้อจริงมาก หรือที่เรียกว่า “สินเชื่อเงินทอน” และยังมีลูกค้าที่กู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 3 สัญญาขึ้นไปพร้อมกันเพิ่มขึ้นมาก เพียงเพื่อหวังเงินทอนก้อนโตแต่ไม่ได้ใช้อยู่อาศัยจริง

...

“สิ่งเหล่านี้สนับสนุนให้เกิดการก่อหนี้ที่เกินความจำเป็น และซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยให้รุนแรงมากขึ้น นำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และในระยะยาวจะเกิดผลกระทบเชิงลบทั้งต่อเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ และต่อตัวลูกค้าเอง เมื่อฟองสบู่แตกลงจะสร้างผลข้างเคียงอย่างมากกับสังคม”

ขณะที่ในด้านสังคมพบว่าสังคมไทยยังเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก คนไทยจำนวนมากยัง “ติดกับดักหนี้” โดยประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงในอัตรา 78.7% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยยอดหนี้ต่อหัวประชากรเร่งตัวมากขึ้นตั้งแต่อายุ 25-44 ปี แม้
จะเกษียณอายุหนี้ก็ไม่ลดลง วงเงินหนี้เฉลี่ยต่อคนก็สูงขึ้น โดยเมื่อปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 150,000 บาทต่อคน และยังมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในระยะหลังทวีความรุนแรงขึ้นและเกิดในวงกว้างขึ้น

“ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งสามเหตุการณ์ข้างต้นจะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้ากรรมการและผู้บริหารของบริษัทเหล่านั้นยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ทั้งธรรมาภิบาลที่ดีภายในองค์กร ธรรมาภิบาลความสำคัญของชุมชน คำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่ธุรกิจมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”

สำหรับนักลงทุน ผู้บริโภค และคนในสังคม จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้นด้วย โดยธรรมาภิบาลมีส่วนกำหนดทิศทางและมาตรฐานการทำธุรกิจใหม่ๆ ตั้งแต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนไปจนถึงการดึงดูดบุคลากรรุ่นใหม่ เนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังมากขึ้นกับการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทที่มีโอกาสสร้างผลข้างเคียงให้แก่สิ่งแวดล้อมและสังคม เพราะอาจทำให้โครงการไปต่อไม่ได้ ขณะที่ช่องทางระดมทุนผ่านหุ้นกู้คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น จึงควรมองในภาพรวมมากกว่าเพียงผลตอบแทนที่ตัวเองได้รับ”

ดังนั้น ธปท.และสถาบันการเงินกำลังเดินหน้าการดำเนินธุรกิจการเงินเพื่อความยั่งยืน สนับสนุนธุรกิจที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค สนับสนุนการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันและธุรกิจที่มีผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ ไม่ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน และสนับสนุนการปลูกฝังการมีวินัยทางการเงิน และสร้างความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง.