นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “จับสัญญาณเสี่ยง ออกกฎคุมสินเชื่ออสังหาฯ” ว่า การออกมาตรการการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลัก ประกัน (LTV) ที่เริ่มใช้วันที่ 1 เม.ย.นี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ด้าน คือ เสริมสร้างวัฒนธรรมการปล่อยสินเชื่อที่ดี ช่วยให้ผู้ขอสินเชื่อมีวินัยทางการเงินที่มากขึ้น และช่วยการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อเก็งกำไร หรือช่วยลดดีมานด์เทียม ที่จะช่วยลดการปั่นราคา ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแท้จริง สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ในราคาที่เหมาะสม และช่วยยกระดับคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ป้องกันการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อที่รุนแรงเกินไป ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยระยะยาว เพราะช่วยลดความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจลงได้
“ธปท.ได้รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ โดยผู้ขอสินเชื่อกลุ่มนี้มีสัดส่วน 89% ของจำนวนสินเชื่อทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่เริ่มมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น กลุ่มนี้มักมีสัญญาการกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมากกว่า 2 สัญญาขึ้นไป และเริ่มมีสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ธปท. จึงเข้าไปดูแล กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มที่ซื้อบ้านราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป เป็นผู้บริโภคระดับบน มีฐานะการเงินที่ดี จึงขอให้ต้องวางเงินดาวน์ 30%หรือมี LTV ที่ 70% ทั้งหมดนี้ เป็นการดูแลความเสี่ยงในเฉพาะจุด ไม่กระทบกับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง” .