Meta เปิดเผย 5 แนวทางเชิงรุกสร้างความโปร่งใสสนับสนุนให้ชาวไทยได้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองและการเลือกตั้งที่ถูกต้อง พร้อมเปิดตัวเครื่องมือใหม่ Meta Ads Library ตรวจสอบโฆษณาถูกโพสต์ลงเมื่อใด ในแพลตฟอร์มใด และใครเป็นคนสปอนเซอร์โฆษณา เตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 นี้

แคลร์ อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า Meta ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการเลือกตั้งทั่วโลก พร้อมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้คนทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนทั่วไปในประเทศไทย

โดย Meta ได้จัดเตรียมทีมงานเพื่อดำเนินการด้านการเลือกตั้งที่มีเข้าใจและคุ้นเคยกับบริบทในระดับท้องถิ่นของประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังประกอบด้วยพนักงานชาวไทยที่พูดภาษาไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ 5 แนวทางเชิงรุกประกอบไปด้วย การจัดตั้งทีมทำงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง (Election Operations Team) การเพิ่มมาตรการจัดการกับเนื้อหาและเครือข่ายที่อันตราย การเพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาที่เกี่ยวกับการเมือง การยับยั้งเครือข่ายที่แทรกแซงความโปร่งใส และการร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเลือกตั้งและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพลเมือง

สนับสนุนให้ชาวไทยได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน พร้อมต่อสู้กับข้อมูลเท็จ

Meta พัฒนาแพลตฟอร์มและเครื่องมือต่างที่จะเพิ่มความโปร่งใสที่มากขึ้นในการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การเมือง และประเด็นสังคม ผู้ลงโฆษณาจะต้องผ่านกระบวนการยืนยันข้อมูลระบุตัวตนผ่านบัตรประชาชนที่ออกโดยรัฐบาล และระบุข้อความ Disclaimers “ได้รับสปอนเซอร์จาก” (“Sponsors paid for by”) ที่จะปรากฏบนโฆษณา เพื่อให้ผู้คนในประเทศไทยรับรู้ว่าใครเป็นผู้สนับสนุนโฆษณาดังกล่าว

...

นอกจากนี้คนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ทั่วไป สื่อมวลชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังสามารถค้นหาโฆษณาที่ถูกดำเนินการอยู่บน Facebook ได้จากคลังโฆษณา (Meta Ads Library) ที่ให้บริการแก่บุคคลทั่วไป เพื่อตรวจสอบว่าโฆษณาถูกโพสต์ลงเมื่อใด ในแพลตฟอร์มใด และใครเป็นคนสปอนเซอร์โฆษณานั้นๆ รวมถึงฟีเจอร์เกี่ยวกับบัญชีนี้ (About This Account) บน Instagram ที่จะช่วยให้บริบทข้อมูลเพิ่มเติมให้ผู้คนสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของบัญชีผู้ใช้ได้ดีขึ้น อีกทั้งสามารถย้อนดูรายละเอียดโฆษณาทั้งหมดย้อนหลังได้ 7 ปี อีกด้วย 

มาตรการการจัดการเนื้อหา

Meta มีนโยบายด้านข้อมูลเท็จของบริษัทที่ไม่อนุญาตให้มีการแทรกแซงหรือหยุดยั้งการลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง รวมไปถึงไม่อนุญาตให้มีการให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ หรือวิธีการเลือกตั้ง ไปจนถึงการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง หรือการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการลงคะแนนด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายหรือเรียกร้องให้มีการแทรกแซงการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้จะมี Community Standard ข้อกำหนดของชุมชนที่จะเป็นด่านแรกที่ผู้ใช้ต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพซึ่งกันและกันบนแพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มจะทำการลบเนื้อหาใดๆ ที่ฝ่าฝืนมาตรฐานชุมชน ไม่ว่าจะเป็น คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (hate speech), ความรุนแรงและการยุยง, การกลั่นแกล้งและการคุกคาม หรือ การให้ข้อมูลเท็จ

สำหรับข้อมูลเท็จประเภทที่มีเนื้อหารุนแรง เช่น ข้อมูลเท็จที่มีวัตถุประสงค์ในการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ์หรืออาจก่อให้เกิดความรุนแรงและอันตรายต่อร่างกาย เนื้อหาประเภทนี้จะถูกลบออกจากแพลตฟอร์ม

ในกรณีที่เนื้อหาไม่ละเมิดมาตรฐานเหล่านี้ แต่ได้รับการตรวจสอบและประเมินว่าเป็นข้อมูลเท็จ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกลดการเผยแพร่และถูกติดป้ายแจ้งเตือนที่มาพร้อมการแสดงข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากนี้ Meta ยังได้จัดตั้งทีมความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อตรวจสอบและยับยั้งความพยายามในการเข้าถึงผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มโดยมีวัตถุประสงค์ที่ไม่โปร่งใส และใช้เทคโนโลยีตรวจจับเพื่อตรวจหาและหยุดความพยายามในการสร้างบัญชีปลอม

พร้อมสอดส่องและรับมือกับเครือข่ายออนไลน์ที่มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยและอาจมีการแทรกแซงความโปร่งใส เช่น การมีพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนบนโลกออนไลน์ (coordinated inauthentic behavior หรือ CIB) รวมถึงปฏิบัติการ IO 

อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทย จาก Meta ยังเปิดเผยอีกว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา Meta ได้จัดอบรมให้กับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเฝ้าระวังการเลือกตั้ง องค์กรไม่หวังผลกำไร และผู้สมัครรับเลือกตั้ง เกี่ยวกับนโยบาย บริการ เครื่องมือ และระบบการรายงานของ Meta

"Meta เชื่อว่าการเสริมสร้างสังคมดิจิทัลที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วน และการเชื่อมต่อผู้คนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือบนโลกออนไลน์ จะต้องมาจากความพยายามร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม และภาครัฐ"

...