ปี 2023 นี้ ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI กลายเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพูดถึงจนกลายเป็นกระแสหลักที่นำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการพูดถึง ChatGPT ในหลากหลายแง่มุม และการแสดงความสามารถที่ทำให้เห็นว่าทำได้หลายอาชีพ ช่วยเหลือมนุษย์ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลายๆ เรื่อง แต่กว่าที่เทคโนโลยีเหล่านี้จะได้รับการยอมรับขนาดนี้ ได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วตัวเองมาแล้วมากกว่า 6 ทศวรรษด้วยกัน Thairath Money ชวนไปย้อนดูแต่ละยุคสมัยของพัฒนาการของ AI ว่าที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างไรบ้าง ?
ปี 1956
คอนเซปต์ของ Artificial intelligence ได้รับการนำเสนอและได้บรรจุเป็นหนึ่งในสาขาการวิจัยวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกโดย John McCarthy and Marvin Minsky ที่งานสัมมนา Dartmouth Summer Research Project on Artificial Intelligence (DSRPAI) โดยทีมนักวิจัยได้จัดทำร่างข้อเสนอขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาล และแบ่งความสนใจด้าน AI ออกเป็น 6 แขนง ได้แก่ computer, natural language processing, neural network, theory of computation, abstraction และ creativity อีกทั้งยังมีการคาดการณ์เกี่ยวกับ AI ว่าจะมีความฉลาดเทียบเท่ากับมนุษย์ได้ภายใน 25 ปี ทำให้ได้รับความสนใจจากรัฐบาล และนักลงทุนจนสามารถจุดประกายให้เกิดการระดมทุนจำนวนมากเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวนี้
ปี 1974-1980
ยุคตกต่ำของ AI หรือที่เรียกกันว่า AI Winter โดยรัฐบาลและภาคธุรกิจหยุดให้เงินสนับสนุนโปรเจกต์ เนื่องจากผลการวิจัยของ James Lighthill ที่ชี้ว่า Ai ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะสร้างผลตอบแทน ด้วยข้อจำกัด 2 ประการ ได้แก่ พื้นที่ความจำในการจัดเก็บข้อมูลและความเร็วในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลซึ่งศักยภาพของคอมพิวเตอร์ในตอนนั้นไม่สามารถทำได้
...
ปี 1997
ปรากฏการณ์ Deep Blue โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเล่นเกมหมากรุก พัฒนาโดยบริษัท IBM สามารถเอาชนะแชมป์หมากรุกโลกอย่าง Garry Kasparov ชาวรัสเซียสร้างความฮือฮาจนเป็นที่พูดถึงของสื่อทั่วโลกขณะนั้น จุดประกายให้คนทั่วโลกได้รับรู้ถึงศักยภาพของ AI ว่าสามารถเอาชนะสมองคนได้ ด้วยโปรแกรมที่ถูกตั้งมาเพื่อแก้เกมหมากรุกที่ซับซ้อน ทำให้นักพัฒนาเข้าใจถึงวิธีที่สามารถออกแบบคอมพิวเตอร์เพื่อจัดการกับปัญหาในสาขาอื่นๆ โดยใช้ความรู้เชิงลึกเพื่อวิเคราะห์วิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้จำนวนมากขึ้น โครงสร้างของ Deep Blue ได้รับการนำไปใช้กับการสร้างแบบจำลองทางการเงิน รวมถึงแนวโน้มของตลาดและการวิเคราะห์ความเสี่ยง
ปี 2011
ปรากฏการณ์ IBM Watson คอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลด้วยโมเดล Deep QA ที่สามารถตอบคำถามชนะแชมป์รายการ Jeopardy ต่อหน้าผู้ชมโทรทัศน์หลายล้านคน เทคโนโลยีใน Watson เป็นก้าวสำคัญต่อจาก Deep Blue เนื่องจากเป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถประมวลผลและให้เหตุผลภาษามนุษย์โดยพึ่งพาข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์เป็นไปได้
ปี 2016
ปรากฏการณ์ AlphaGo โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถเอาชนะ Lee Sedol แชมป์โลกนักหมากล้อม(โกะ) ชาวเกาหลีใต้ได้เป็นครั้งแรกของโลก พัฒนาโดยบริษัท DeepMind ผลการแข่งขันชนะ 4 จาก 5 เกม พื้นฐานความสำเร็จของ AlphaGo คือการประยุกต์ใช้ machine learning ให้โปรแกรมเรียนรู้ด้วยตัวเองเพื่อพัฒนาระบบการตัดสินใจ โดยฝึกฝนด้วยฐานข้อมูลของนักเล่นโกะมือสมัครเล่นจำนวนมากเพื่อทำความเข้าใจการเล่นเกมของมนุษย์ แล้วจึงแข่งกับตัวเองเพื่อเรียนรู้ข้อผิดพลาดและเพิ่มความแข็งแกร่งในการเล่นครั้งต่อไป ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ AlphaGO ถูกขนานนามว่าเป็น “บิ๊กแบงแห่งวงการปัญญาประดิษฐ์” เพราะจุดประเด็นให้ผู้คนหันมาพูดถึงภาวะเอกฐาน (Singularity) ซึ่งเป็นจุดที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีก้าวข้ามความสามารถของมนุษย์ จนสามารถแข่งขันกับมนุษย์ได้ โดยคำนี้ปรากฏในหนังสือที่ถูกเขียนโดยผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของ Google การที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถเอาชนะมนุษย์ในเกมที่มีความซับซ้อน ยิ่งตอกย้ำถึงความเป็นไปได้ที่ศักยภาพของ AI จะก้าวข้ามข้อจำกัดจนสามารถทำงานแทนที่มนุษย์ จุดประกายความหวังให้อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์พัฒนาอย่างก้าวกระโดด
ปี 2022-2023
ปรากฏการณ์ ChatGPT ฟีเวอร์ แชตบอทอัจฉริยะที่โต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ พัฒนาโดยบริษัทสตาร์ทอัพ OpenAI ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจาก Microsoft ใช้โมเดลประมวลผลภาษาขนาดใหญ่รุ่น GPT3 และถูกฝึกด้วยวิธี Reinforcement Learning from Human Feedback (RLHF) จึงสามารถตอบคำถามในรูปแบบบทสนทนา ยอมรับข้อผิดพลาดและโต้แย้งด้วยสมมติฐาน อีกทั้งยังช่วยเขียนข้อความในรูปแบบต่างๆ รวมถึงสามารถแก้โค้ด โมเดลจะพัฒนาความฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จากการใช้งานที่มากขึ้น ด้วยความสามารถที่หลากหลายเกินแชตบอททำให้ ChatGPT ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วทั้งจากผู้ใช้งาน และบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ที่สนใจร่วมลงทุน ล่าสุด Microsoft ได้ลงทุนเพิ่ม 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อนำแชตบอทมาใช้กับเสิร์ชเอ็นจินของตัวเองอย่าง Bing ด้าน Google เจ้าตลาดเสิร์ชเอ็นจินที่ถูกกดดันจากการมาของแชตบอทอัจฉริยะที่หลายคนมองว่าจะมาดิสรัปธุรกิจ ก็ได้ประกาศเปิดตัว Bard แชตบอทของตัวเอง การมาของ ChatGPT ยังสร้างแรงกระเพื่อมไปถึง Baidu บริษัทเสิร์ชเอ็นจินยักษ์ใหญ่ของจีนที่ประกาศเปิดตัวแชตบอทด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่ากว่าที่ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI กลายเป็นที่แพร่หลายและเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมากในปัจจุบัน เทคโนโลยีเหล่านี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1956 เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมนุษย์ โดยเริ่มจากการเลียนแบบระบบการทำงานสมองเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและความคิดของมนุษย์ แม้จะยังไม่สามารถเลียนแบบการทำงานของสมองได้อย่างสมบูรณ์ แต่ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา AI ถูกพัฒนาเพื่อเสริมความแข็งแกร่งลดข้อบกพร่องในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้แทนที่จะพยายามเลียนแบบการทำงานของสมอง การเกิดขึ้นของ ChatGPT ก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของ AI ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ Bill gates มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Microsoft ที่มองว่าปัญญาประดิษฐ์จะเป็นเทคโนโลยีที่มาปฏิวัติชีวิตมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง จากอัตราการเติบโตของ AI ในตอนนี้ จะสามารถสร้างผลกระทบในวงกว้าง หรือพูดง่ายๆ คือเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต
...
อ้างอิง Business Standard, Harvard, IBM, forbes, deepmind