หลังจากที่ทางคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล “utility token พร้อมใช้” ทั้งในส่วนของตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อวางแนวทางกำกับดูแลให้สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง พัฒนาการและการใช้งาน และมีกลไกคุ้มครองผู้ซื้อขายที่เพียงพอเหมาะสม รวมถึงสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและบุคคลทั่วไปในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ปี 2565 ที่ผ่านมา
ล่าสุด ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแล utility token พร้อมใช้ ที่มีการปรับปรุงแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะ วัตถุประสงค์การใช้งาน และความเสี่ยงของ “utility token พร้อมใช้” แต่ละประเภท โดยมีหลักการกำกับดูแลที่สำคัญแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ที่มีลักษณะการให้สิทธิ์จากฐานการอุปโภคบริโภคของผู้ใช้งาน ซึ่งบริษัทใช้เพื่อสร้างความจงรักภักดีของลูกค้า ประกอบด้วย
1.utility token พร้อมใช้ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น บัตรกำนัลดิจิทัลที่ออกในรูปของโทเคน และ non-fungible token (NFT) ซึ่งมีการให้สิทธิโดยเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ถือ เช่น สิทธิในการแลกบัตรคอนเสิร์ต และงานศิลปะ รูปภาพ เพลง แสตมป์หรือวิดีโอ
2.utility token พร้อมใช้ ที่ใช้แทนใบรับรอง (certificate) หรือแสดงสิทธิต่าง ๆ เช่น ใบรับรองพลังงานทดแทน ใบกำกับภาษี และโฉนดที่ดิน
**หลักการกำกับดูแลโทเคนกลุ่มที่ 1
จะได้รับยกเว้นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน และยกเว้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งต้องไม่มีลักษณะเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (MOP) ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด รวมถึงผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (issuer) จะต้องไม่เปิดให้ฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับผลตอบแทน (staking) เว้นแต่เป็นไปเพื่อการลงคะแนนเสียง (voting) เข้าร่วมกิจกรรม หรือเพื่อได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรม ecosystem
...
กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย utility token พร้อมใช้ ประเภทอื่นนอกจากกลุ่มที่ 1 ซึ่งมูลค่าโทเคนขึ้นอยู่กับความคาดหวังของโปรเจกต์ในอนาคต ได้แก่
1.utility token ที่ให้สิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการบนเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (DLT) รวมทั้งระบบการเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi)
2.utility token ที่ใช้งานประจำศูนย์ซื้อขายฯ (exchange token) มีจุดประสงค์เพื่อชำระค่าธรรมเนียม เป็นส่วนลดค่าธรรมเนียม สะสมเพื่อเลื่อนระดับสมาชิกโดยในแต่ละระดับจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน
3.utility token ที่ให้สิทธิออกเสียงในธุรกิจ (governance token) เพื่อปรับเปลี่ยนหรือตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการทางธุรกิจ
4.utility token ประจำโครงการที่ให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะระบบการเงินแบบรวมศูนย์ที่ธนาคารใช้ (CeFi)
สำหรับหลักการกำกับโทเคนกลุ่มที่ 2 ที่ประสงค์จดทะเบียนบนศูนย์ซื้อขายฯ ต้องได้รับอนุญาตการเสนอขายจาก ก.ล.ต. โดยผู้เสนอขายต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (filing) และหนังสือชี้ชวน รวมทั้งเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) เช่นเดียวกับโทเคนกลุ่มที่ โทเคนต้องไม่มีลักษณะเป็น MOP และผู้ออกเสนอขายจะต้องไม่รับ staking เว้นแต่เป็นการ staking เพื่อใช้เป็นกลไกยืนยันธุรกรรม การลงคะแนนเสียง เข้าร่วมกิจกรรม หรือเพื่อได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมใน ecosystem
ผลกระทบสำหรับผู้ให้บริการโทเคนกลุ่มที่ 2 ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วในศูนย์ซื้อขายฯ จะมีเวลา 60 วันในการแก้ไขและอัปเดตข้อมูลให้เป็นไปตามเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อเปิดเผยข้อมูลต่อ ก.ล.ต.และผู้เกี่ยวข้อง ส่วนผู้ให้บริการโทเคนกลุ่มที่ 1 จะได้รับการยกเว้น สามารถประกอบธุรกิจโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตตามเกณฑ์เดิม
อย่างไรก็ตามขณะนี้สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว เป็นครั้งสุดท้ายระหว่างวันที่ 25 มกราคม-24 กุมภาพันธ์ นี้ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้จริง หลังจากที่ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (focus group) และผู้ที่เกี่ยวข้องและบุคคลทั่วไปเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงไตรมาส 2 / 2566 หรือไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้