สำนักงานคณะกรรมการกำหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้มีคำสั่งดำเนินการลงโทษต่อ 3 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดคริปโตฯ และตลาดหุ้น โดยมีคำสั่งใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 18 เหรียญ ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด และให้ชำระเงินรวม 75,011,241 บาท และใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 4 ราย กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 3 เหรียญ ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยเรียกให้ชำระเงินรวม 12,011,240 บาท นอกจากนี้ ยังกล่าวโทษ บล. เอเชีย เวลท์ กรณีแยกทรัพย์สินของลูกค้าไม่ครบถ้วน นำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้เพื่อประโยชน์ของบริษัท

ปรับ Bitkub และผู้บริหาร รวม 75 ล้านบาท พบสร้างวอลุ่มเทียม 18 เหรียญ

สำนักงานก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย ได้แก่ (1) บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (บริษัท บิทคับ) (2) นายอนุรักษ์ เชื้อชัย (นายอนุรักษ์) และ (3) นายสกลกรย์ สระกวี (นายสกลกรย์) กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 18 เหรียญ ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub (ศูนย์ซื้อขาย Bitkub) ของบริษัทบิทคับ โดยเรียกให้ชำระเงินรวม 75,011,241 บาท กำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร

ในกรณีของบริษัทบิทคับ โดยนายสกลกรย์ ได้ทำสัญญากับนายอนุรักษ์ให้นายอนุรักษ์ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ในศูนย์ซื้อขาย Bitkub
และได้ให้นายอนุรักษ์ยืมเงินเพื่อใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า ระหว่างวันที่ 4 มกราคม–5 กันยายน 2562

นายอนุรักษ์ได้ส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีเหรียญอื่นอีก* จำนวน 18 เหรียญ ได้แก่ ABT ADA BSV CVC GNT IOST JFIN KNC LINK LTC MANA OMG SNT USDT WAN XLM ZIL และ ZRX โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีของตนเองในศูนย์ซื้อขาย Bitkub ซึ่งการจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีกันเองในแต่ละเหรียญ มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 74–99 ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด โดยบริษัทบิทคับและนายสกลกรย์รับทราบถึงการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายของนายอนุรักษ์ แต่ไม่ได้มีการทักท้วงการส่งคำสั่งซื้อขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีของนายอนุรักษ์ดังกล่าว

...

ปรับ Satang Pro และผู้บริหาร รวม 12 ล้านบาท พบสร้างวอลุ่มเทียม 3 เหรียญ

ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 4 ราย ได้แก่ (1) บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (บริษัทสตางค์) (2) บริษัท LLC Fair Expo (3) นายปรมินทร์ อินโสม (นายปรมินทร์) และ (4) Mr. Mikalai Zahorski (Mr. Mikalai) กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 3 เหรียญ ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Satang Pro (ศูนย์ซื้อขาย Satang Pro) ของ บริษัทสตางค์ โดยเรียกให้ชำระเงินรวม 12,011,240 บาท

ในกรณีของ บริษัทสตางค์ โดยนายปรมินทร์ ได้ทำสัญญากับบริษัท LLC Fair Expo โดย Mr. Mikalai ให้บริษัท LLC Fair Expo ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro และได้ให้วงเงินซื้อขายเพื่อใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่าระหว่างวันที่ 4 มกราคม – 9 กันยายน 2562 บริษัท LLC Fair Expo ได้ส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีเหรียญอื่นอีก* จำนวน 3 เหรียญ ได้แก่ USDT XLM และ XZC โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีของ Market Maker ในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro ซึ่งการจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีกันเองในแต่ละเหรียญ มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 92–98 ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของ Market Maker ได้มีการนำส่งรายงานการซื้อขายในบัญชี Market Maker ให้บริษัทสตางค์รับทราบทุกเดือน


กล่าวโทษ เอเชีย เวลท์ ต่อ บก.ปอศ. พบนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้

นอกจากนี้ สำนักงานก.ล.ต. เดินหน้า กล่าวโทษบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีแยกทรัพย์สินของลูกค้าไม่ครบถ้วน โดยมีการนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้ประโยชน์เพื่อบริษัท ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

จากการตรวจสอบพบว่า ระหว่างวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ถึงวันที่ 25 พ.ย. 2564 บล. เอเชีย เวลท์ ในฐานะบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ได้มีการแยกทรัพย์สินของลูกค้าไม่ครบถ้วน โดยนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทหลายกรณี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่บริษัทได้ให้บริษัทแม่กู้ยืมเงินไปก่อนหน้านั้น การกระทำดังกล่าวมีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้า

นอกจากนี้ ยังแสดงถึงการมีระบบงานการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าที่ยังไม่รัดกุมเพียงพอ ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวของ บล. เอเชีย เวลท์ เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 98(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 282 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และโดยที่การกระทำข้างต้นมีลักษณะเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรง ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษ บล. เอเชีย เวลท์ ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป รวมทั้งแจ้งเบาะแสให้ บก.ปอศ. พิจารณาการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องการยักยอกทรัพย์ตามที่เห็นสมควรต่อไปด้วย