นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผย ถึงกรณีที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าหารือเกี่ยวกับ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในกรณีที่มีการปลูกพืช การเกษตร ในที่ดินรกร้างว่างเปล่าใจกลางเมือง ซึ่งตนยังไม่ได้รับรายงาน เนื่องจากคณะอนุกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำลังจัดทำรายละเอียด เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ วินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างชุดใหญ่ที่มีตนเป็นประธาน
“ในหลักการของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ก็เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินทั่วประเทศ ส่วนอำนาจการจัดเก็บภาษีเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเงินภาษี ที่จัดเก็บได้จะนำมาพัฒนาท้องถิ่น โดย 2 ปีที่ผ่านมา มีคน ที่มีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ใช้พื้นที่ปลูกกล้วย มะนาว เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ก็เป็นสิทธิของเจ้าของที่ดิน แต่อำนาจการจัดเก็บภาษีเป็นของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่ต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาจะมีการจัดเก็บภาษีหรือไม่”
ทั้งนี้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้กำหนดอัตราภาษีสูงสุด ที่ให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษีตามประเภทที่ดิน ดังนี้ คือ ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อัตราเพดาน อยู่ที่ 0.15% ของมูลค่าที่ดิน, ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เพดานอยู่ที่ 0.3%ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินประเภทอื่นนอกเหนือจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย เช่น ที่ดินที่ใช้ ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า มีเพดานอยู่ที่ 1.2% ซึ่งคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะกำหนดอัตราภาษีแนะนำ แต่ละประเภทที่ดิน ให้เป็นแนวทางให้ท้องถิ่นจัดเก็บ และท้องถิ่นสามารถจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราแนะนำ หรือสูงกว่าก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด
...
“ในกรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพ กฎหมายได้กำหนดว่า หากที่ดินแปลงใดปล่อยไว้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า และถูกเสียภาษีในอัตรา ที่รกร้างว่างเปล่าแล้ว ยังไม่ได้นำที่ดินแปลงนั้นมาใช้ประโยชน์ ยังคงปล่อยไว้ให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าในทุกๆ 3 ปี จะปรับอัตราภาษีเพิ่มอีก 0.3% หากไม่ได้ทำประโยชน์อะไรอีกก็จะปรับขึ้นภาษีไปเรื่อยๆ แต่สูงสุดจะต้องไม่เกิน 3% ของราคาประเมิน”.