เห็นหนังโฆษณาของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ฉลองอายุครบ 60 ปี ของการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว ก็รู้สึกอบอุ่นดี โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการดำเนินธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมเคียงข้างคนไทยมาโดยตลอด
เพราะจากวันนั้นจนถึงวันนี้ โตโยต้ามีโรงงานประกอบรถยนต์ หลักทั้งสิ้น 3 แห่งด้วยกัน มีกำลังการผลิตรวมมากถึง 770,000 คัน ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในประเทศสะสมกว่า 7 ล้านคัน ต่อยอดสู่การยกระดับเป็นฐานการผลิตรถยนต์หลักระดับภูมิภาคเพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลกแล้วกว่า 5 ล้านคัน รวมเป็นยอดผลิต สะสมกว่า 11 ล้านคัน
เหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้แก่ประเทศไทย แต่ปัญหาเดียวที่รัฐบาลและเหล่าสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพูดถึง ก็คือโตโยต้าไม่ได้สร้างฐานการเรียนรู้เรื่องอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ให้แก่อุตสาหกรรม แรงงาน หรือลูกจ้างคนไทยเลย
ปัญหานี้สำคัญหรือไม่ จะว่าไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะเมื่อนวัตกรรมการผลิตรถยนต์โลกเปลี่ยนไป การใช้น้ำมัน หรือก๊าซ เป็นเชื้อเพลิงไม่ใช่ความต้องการอีกในอนาคต เพราะหลายประเทศมีนโยบายขับเคลื่อนโลกด้วยพลังงานสะอาด และคนรุ่นใหม่ต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ประหยัดมากกว่า
...
แต่โตโยต้ายังไม่ได้แสดงให้เห็นความชัดเจนว่า จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตรถยนต์จากเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันและก๊าซ ไปเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบแบตเตอรี่เพื่อเก็บกักไฟฟ้าเมื่อใด จะทิ้งประเทศไทยให้เป็นโรงงานผลิตรถยนต์เก่าที่ใช้ฟอสซิลไปเลยหรือไม่
จริงอยู่ในช่วงเวลาแห่งการฉลองปีที่ 60 ของ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ในปี 2565 ผู้บริหารโตโยต้า อาจนำเสนอโมเดลยานยนต์ไฟฟ้าด้วยระบบส่งกำลังรูปแบบต่างๆเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานในทุกรูปแบบ เป็นการรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ ยุคยานยนต์ไฟฟ้า
กับแผนการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ยุคแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญแก่การผลักดันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักของภูมิภาค ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์
แต่รถยนต์รุ่นใหม่ที่นำออกขายฉลอง 60 ปี ก็ยังเป็นเครื่องยนต์ที่ยังใช้น้ำมันอยู่ดี ขณะที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต่างเดินมาในทิศทางเดียวกันในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV
สิ่งที่รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมไทยอยากให้ผู้บริหารโตโยต้า ดำเนินการในวันนี้ ก็คือ เร่งปรับโครงการสร้างการผลิตเพื่อตอบสนองยุคยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ภายใน 2 ปี ไม่ใช่ 10 หรือ 20 ปีตามยุทธศาสตร์ที่โตโยต้าวางไว้
ที่สำคัญผู้บริหารโตโยต้าควรทำให้เห็นชัดเจนว่าการตัดสินใจไปสร้างโรงงานแบตเตอรี่ใหญ่ในประเทศอินโดนีเซียด้วยวงเงินลงทุนหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯนั้น จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยได้รับอานิสงส์ไปด้วยตามที่พูดไหม
ทุกวันนี้ โตโยต้ามีผู้ผลิตชิ้นส่วนอยู่ราว 172 ราย มีผู้แทนจำหน่าย 155 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ มีการจ้างงานกว่า 250,000 คน การจะปรับโครงสร้างการผลิตไปในทิศทางใด จึงมีผลกระทบกับเศรษฐกิจและสังคมไทยมากอย่างไม่ต้องสงสัย
ยิ่งเมื่อยอดการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันและก๊าซเป็นเชื้อเพลิงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วตามกระแสความนิยมของผู้บริโภค มาตรการต่างๆ ที่รัฐให้การสนับสนุนและข้อเสนอที่ดึงดูดใจของบรรดาค่ายผู้ผลิตรถยนต์
ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV : Electric Vehicle) ก็ยิ่งพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง จนประเมินว่ารถยนต์พลังไฟฟ้า รวมกับไฮบริด (HEV : Hybrid Electric Vehicle) น่าจะมีมากกว่า 15 ล้านคัน จากสถิติการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2563
และถ้าอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย ยังไม่ปรับเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ EV และแบตเตอรี่ภายใน 5 ปีล่ะก็ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และแรงงานไทยที่เกี่ยวข้องจะตกที่นั่งลำบากแน่ๆ.
...
แสงทิพย์ ยิ้มละมัย