เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวรุนแรงสู่ภาวะถดถอย หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ขณะที่เงินบาทอ่อนค่า กังวลโควิดในจีน
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 65 นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ หรือ TISCO ESU กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อและไม่มีท่าทีที่จะสงบลง ประกอบกับผลกระทบจากการ Lockdown เพื่อควบคุมผู้ติดเชื้อโควิดในจีน ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ล่าสุดตลาดซื้อขายล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสะท้อนว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึง 3% ณ สิ้นปีนี้ และขึ้นต่อเนื่องไปหยุดที่ 3.5% กลางปีหน้า ซึ่งหากเป็นไปตามที่ตลาดคาด วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นรอบที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี และเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจฉุดเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวอย่างรุนแรงจนเข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ จากการศึกษาวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในอดีตตั้งแต่ปี 2508 ซึ่งมีทั้งหมด 11 รอบ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้พบว่ามีถึง 8 ครั้งที่การขึ้นดอกเบี้ยนำไปสู่ภาวะถดถอย และมีเพียง 3 ครั้งเท่านั้นที่ Fed สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
โดยใน 3 ครั้งดังกล่าว ซึ่งได้แก่ในปี 2508 ปี 2526 และ ปี 2536 เป็นการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ (สูงสุดในช่วงการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ในระดับไม่เกิน 4%) ซึ่งทำให้ Fed ไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย จึงทำให้เศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวต่อไปได้ แต่ในครั้งนี้อัตราเงินเฟ้อได้พุ่งขึ้นไปสูงถึงระดับ 8% ซึ่งทำให้ Fed จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็ว จึงทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้น
...
สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ พบว่า ตลาดหุ้นมักตอบรับในเชิงลบในรอบที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เช่นในปี 2511 ปี2516 ปี2523 และ ปี2527 ที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 200 bps ในช่วง 6 เดือน และทำให้ดัชนี S&P 500 เคลื่อนไหวในแดนลบตลอดช่วงการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับในวัฏจักรที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยช้า ที่ตลาดปรับฐานเพียงเล็กน้อยและฟื้นตัวได้ภายใน 3 เดือนหลัง Fed เริ่มขึ้นดอกเบี้ย
นอกจากนั้น ในด้านมูลค่า (Valuation) ตลาดหุ้นในปัจจุบันนับว่าเริ่มแพง เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ที่เพิ่มสูงขึ้น โดย Earning Yield Gap หรือส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนคาดการณ์ของตลาดหุ้นกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ได้ลดลงมาอยู่ที่ 2.7% ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2550
ดังนั้น จากประเด็นข้างต้นศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้แนะนำให้นักลงทุนลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลง เนื่องจากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังสูงต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ Fed ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่หากต้องการลงทุนนักลงทุนอาจมองหาสินทรัพย์การลงทุนอื่นที่ไม่ผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจมากนัก เช่น ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มเมกะเทรนด์ เช่น ธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ กลุ่มเทคโนโลยีแห่งอนาคต เป็นต้น
แนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่าลง กังวลเศรษฐกิจจีน และเฟดขึ้นดอกเบี้ย
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่าบรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง รวมถึงความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ยังอาจกดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง ทั้งนี้ ควรจับตาแนวต้านสำคัญในช่วง 34.15-34.20 บาทต่อดอลลาร์
ถ้าหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ก็อาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดภาวะ panic ในฝั่งผู้นำเข้าที่อาจเข้ามาเร่งซื้อเงินดอลลาร์ จากความกังวลว่าเงินบาทอาจอ่อนค่ารุนแรงได้อีก โดยโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าหนักได้นั้น เรามองว่า ต้องเห็นภาพฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลออกรุนแรงทั้งฝั่งหุ้นและบอนด์ ซึ่งปัจจุบัน แรงขายสินทรัพย์ไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่ได้รุนแรงนัก หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยขายไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะในช่วงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และไทย ปรับตัวขึ้นหนัก
...
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.15 บาท/ดอลลาร์