นางสุปรารถนา กมลเวชช ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ซอสน้ำปลาร้า หรือน้ำปลาร้าปรุงรสจากไทย เริ่มวางจำหน่ายในสหรัฐฯมากขึ้น จากที่คนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯได้ซื้อติดมือมาจากประเทศไทย และเริ่มนำเข้ามาจำหน่ายเป็นครั้งคราว แต่การบริโภคยังอยู่ในวงแคบเฉพาะคนไทย และเพื่อนบ้านในอาเซียน ทั้งชาวลาว พม่า กัมพูชา ม้ง เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่คาดจะมีอยู่ในสหรัฐฯ 5.83 ล้านคน รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคอื่นที่คุ้นเคยกับน้ำปลาร้า และซื้อน้ำปลาจากไทยมาปรุงอาหาร จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ไทยจะนำเสนอน้ำปลาร้าควบคู่ไปกับน้ำปลาในตลาดสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ซอสน้ำปลาร้าถือเป็นนวัตกรรมซอสชนิดใหม่ในตลาดสหรัฐฯ ไม่มีสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นที่ใกล้เคียงจำหน่าย หรือเป็นคู่แข่งของไทย ส่วนคู่แข่งจากต่างประเทศมีเพียงซอสจากฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่มีรสชาติใกล้เคียงกับซอสน้ำปลาร้าของไทย สำหรับช่องทางการเข้าสู่ตลาดที่มีโอกาส คือ ธุรกิจบริการอาหาร หรือร้านอาหาร ซึ่งในสหรัฐฯ มีร้านอาหารไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 แห่ง

“น้ำปลาร้าได้รับการพัฒนาเป็นซอสปลาร้า เป็นการยกระดับสินค้าให้หลุดพ้นจากข้อครหาเรื่องคุณภาพ อีกทั้งยังทำให้เห็นว่าสินค้ามีศักยภาพสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภควัยอื่นๆ ได้ เช่น คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน เพราะผู้บริโภคสหรัฐฯกลุ่มนี้มักจะชอบลองของใหม่ รวมถึงสนใจซอสปรุงรสอาหารชนิดใหม่ๆด้วย”

นางสุปรารถนา กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดซอสน้ำปลาร้าในสหรัฐฯยังไม่มีผู้นำอย่างชัดเจน จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการซอสน้ำปลาร้าของไทยนำเสนอความหลากหลายการใช้งาน และยกระดับซอสน้ำปลาร้าให้เป็นซอสที่ร้านค้าต้องนำไปวางบนโต๊ะอาหาร เหมือนกับซอสศรีราชา น้ำปลา หรือซีอิ๊วดำ รวมถึงต้องแสดงชื่อสินค้าเป็นภาษาอื่นๆ เช่น ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้บริโภคชาติอื่นได้รับทราบว่าเป็นน้ำปลาร้า

...

“ช่องทางหนึ่งในการสร้างการรับรู้และให้ผู้บริโภครู้จักสินค้าได้รวดเร็ว คือ การใช้พ่อครัวไทยที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ มาประชาสัมพันธ์ผ่านบล็อกอาหารไทยในสหรัฐฯ, เฟซบุ๊ก กลุ่มคนไทย เพื่อแนะนำสินค้าและชักจูงการบริโภค การจัดทำเมนูปรุงด้วยซอสน้ำปลาร้า ไม่เพียงเฉพาะใช้กับส้มตำเท่านั้น การจัดทำซอสน้ำปลาร้าซองเล็กๆ เพื่อแจกสามารถนำไปทดลองใช้ปรุงอาหารได้”.