หากจะกล่าวว่า 2022 นี้คือปีแห่ง EV ก็คงจะไม่เกินความจริงนัก จากกระแสที่เริ่มเติบโตในวงกว้าง ปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ รวมถึงนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่มีส่วนสำคัญให้การผลักดันการใช้ EV ในประเทศมีความเป็นไปได้และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และเมื่อปัจจัยเกื้อหนุนมุ่งสู่ทิศทางเดียวกันเราจึงได้เห็นหลายบริษัทชั้นนำออกสตาร์ตสู่แนวทางสีเขียวอย่างเต็มที่ เพื่อเป้าหมายสำคัญคือการสร้างโลกที่ดีกว่านี้ให้เกิดขึ้นจริง

สำหรับในไทย หนึ่งในบริษัทที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานอนาคตเพื่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด อย่าง “กลุ่ม ปตท.” ก็ได้มีการประกาศปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และไฮไลต์สำคัญก็ได้เกิดขึ้นในงานมอเตอร์โชว์ 2022 ที่เปิดตัวไปเมื่อ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา ในงานนี้ ไม่เพียงแต่เราจะได้เห็นกองทัพ EV หลากหลายรุ่นที่ค่ายต่างๆ ขนมานำเสนอ ทาง “กลุ่ม ปตท.” ยังได้พาบริษัทน้องใหม่ในเครืออย่าง “อรุณ พลัส” มาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ภายใต้คอนเซปต์ที่น่าสนใจว่า “EV-verse” หรือจักรวาล EV ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะเป็นทัพหน้าลุยธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของ กลุ่ม ปตท.

วันนี้ไทยรัฐออนไลน์จึงขอพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ EV-verse โดยกลุ่ม ปตท. ให้มากขึ้น และร่วมติดตามไปพร้อมกันว่ามีอนาคตแบบไหนบ้างที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง

เติมเต็มโครงสร้างพื้นฐาน มุ่งสร้าง EV Ecosystem ครบวงจร

“กลุ่ม ปตท. เรากำลังปรับแนวทางสู่วิสัยทัศน์ใหม่ Powering Life with Future Energy and Beyond ซึ่งหมายความว่าในขณะนี้เรากำลังจะพยายามปรับ Portfolio ของบริษัท จากเดิมที่เราเน้นธุรกิจ Oil & Gas โดยจะทำให้สมดุลมากขึ้น แสวงหาธุรกิจใหม่ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าสำคัญก็คือธุรกิจ EV”

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวกับเราในเบื้องต้น ซึ่งความตั้งใจดังกล่าวได้สะท้อนสู่การลงมือจริงด้วยการก่อตั้ง “บริษัท อรุณ พลัส จำกัด” (ARUN PLUS) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเปิด EV Ecosystem ให้กับกลุ่ม ปตท.

บทบาทของ อรุณ พลัส คือการดำเนินธุรกิจที่จะตอบโจทย์ในแง่ของ EV Value Chain รองรับการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ ดำเนินการและพัฒนาภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ขยายเครือข่ายสถานีเครื่องอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charging Station เช่น ในศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ตลอดจนจำหน่ายสินค้าและให้บริการที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า หรือกล่าวได้ว่าครอบคลุมในทุกภาคส่วนที่จำเป็นเพื่อสร้าง “โครงสร้างพื้นฐาน” ให้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยอาศัยทรัพยากรจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. เช่น GC และ IRPC เป็นต้น นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีสำคัญต่างๆ เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนวิธีการที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด

จับมือพาร์ทเนอร์ ร่วมพัฒนา EV ต้นแบบ ครอบคลุมทุกการใช้งาน

ในส่วนของการพัฒนาและผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันบริษัทได้มีการลงทุนร่วมกันกับพาร์ทเนอร์หลายฝ่าย อาทิ

- โครงการลงทุนโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกับ Foxconn โดยได้จัดตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม หรือโครงฐานช่วงล่างของ EV ที่จะกลายเป็นต้นแบบให้แบรนด์รถยนต์ที่สนใจสามารถสั่งผลิต EV กับทางบริษัทได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นในราคาที่จับต้องได้ โดยภายในงานมอเตอร์โชว์ 2022 ครั้งนี้ได้มีรถยนต์ต้นแบบจากแพลตฟอร์มดังกล่าวนำมาจัดแสดง ให้ได้ลองสัมผัสถึงศักยภาพ ความยืดหยุ่น ความสามารถปรับแต่งได้หลากหลายเพื่อให้เข้ากับรถยนต์ทุกประเภท

ปัจจุบันโครงการนี้คืบหน้าสู่การวางแผนในขั้นสุดท้ายและมีการประเมินถึงความเป็นไปได้ร่วมกับแบรนด์รถยนต์ต่างๆ ที่จะผลักดันไทยให้เป็นฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน โดยคาดการณ์ว่าเมื่อโรงงานแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีกำลังผลิตสูงถึง 50,000 คันต่อปี

- โครงการลงทุนในยานยนต์ 2 ล้อ ซึ่งเตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพ คาดว่าจะเริ่มเห็นผลงานภายในไตรมาส 2-3 ของปีนี้

- โครงการลงทุน E-Bus ร่วมกับพาร์ทเนอร์ โดยจะเป็นการผลิตรถบัสไฟฟ้าขนาด 7 เมตร และ 12 เมตร เป้าหมายในขั้นต้นเพื่อการรับ-ส่งพนักงานของกลุ่มบริษัทและลูกค้าภายนอก และในอนาคตมีแผนจะก่อตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการบริการให้มากยิ่งขึ้น

เปิดประสบการณ์ใช้งาน พร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านอย่างไร้รอยต่อ

ไม่ใช่แค่การพัฒนาและการผลิตเท่านั้น สิ่งที่กลุ่ม ปตท. และ อรุณ พลัส ให้ความสำคัญอย่างคู่ขนานคือการสร้างประสบการณ์ที่ทำให้ผู้คนในสังคมเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับรถยนต์ EV โดยมีเป้าหมายหลักคือมุ่งทำให้ทุกอย่าง “ง่ายขึ้น” และ “เข้าถึงได้” และพยายามจะทำให้ EV กลายเป็นตัวเลือก “รถคันต่อไป” ของคนที่กำลังตัดสินใจจะซื้อรถสักคัน

แนวคิดดังกล่าวกลายเป็นการดำเนินงานในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับ OR เพื่อเร่งขยายจุดบริการชาร์จไฟภายในสถานีบริการ PTT Station นอกจากนี้ อรุณ พลัส ยังพร้อมเดินหน้าจับมือพันธมิตรขยายเครือข่ายสถานีบริการอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายใต้แบรนด์ on-ion ไปยังทำเลศักยภาพ นอกสถานีบริการ PTT Station อีกกว่า 1,000 เครื่อง ภายในปี 2565 เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รองรับความต้องการของผู้ใช้ EV ในอนาคต และยังมองหาพันธมิตรใหม่ๆ ทั้ง กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการนิติบุคคลโครงการต่างๆ ไปจนถึงกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์ เพื่อขยาย EV Ecosystem อีกด้วย

นอกเหนือจากการรองรับผู้ใช้งานที่มี EV อยู่แล้ว กลุ่ม ปตท. และ อรุณ พลัส ยังพัฒนาแอปพลิเคชัน “EVme” โดย บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) ที่จะช่วยเปิดประสบการณ์เกี่ยวกับ EV สำหรับผู้ที่ยังไม่แน่ใจและอยากได้ข้อมูลประกอบก่อนตัดสินใจซื้อ โดย EVme จะเป็นแอปพลิเคชันที่เข้ามาตอบโจทย์การให้บริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างรอบด้าน อาทิ บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบ B2B และ B2C บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้าตลอดจนแสวงหาโอกาสในผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยหลังจากเปิดบริการอย่างเป็นทางการเมื่อ ก.พ. 65 ที่ผ่านมา ก็มีฐานผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมี EV หลากหลายรุ่นให้ทดลองขับเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้ค้นหา EV ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่สุด

มองหาไอเดียใหม่ เพื่อการเปลี่ยนผ่านร่วมกันทั้งสังคม

ด้วยความเชื่อมั่นว่าพลังงานไฟฟ้าจะเปิดประตูความเป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่กลุ่ม ปตท. มุ่งหวังจึงไม่ได้มีเพียงการใช้งานแบบ Home Use เท่านั้น แต่นวัตกรรมนี้ยังสามารถช่วยยกระดับสังคมได้ อาทิ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าชนิดที่สามารถสลับแบตเตอรี่ได้แบบไม่ต้องรอชาร์จ หนึ่งในโมเดลที่เริ่มนำมาใช้งานแล้ว โดยมี บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าว ซึ่งเป้าหมายในเบื้องต้นคือเทคโนโลยีนี้จะตอบโจทย์อุตสาหกรรมเดลิเวอรีได้อย่างดี เพราะช่วยทั้งเรื่องการลดมลภาวะ และความรวดเร็วในการเติมพลังงาน โดยระยะเวลาทั้งกระบวนการสลับแบตเตอรี่สามารถทำได้ภายใน 3 นาที นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการจะรองรับการขยายตัวของผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในอนาคต และเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างศึกษาหาโอกาสและความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาเครือข่ายแพลตฟอร์มและแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สำหรับใช้งานกับยานยนต์ไฟฟ้าสองล้อ สามล้อ หรือสี่ล้อเล็ก ในราคาที่เหมาะสมกับประเทศไทย

นอกจากนี้ภายในบูธอรุณ พลัส ยังนำ G-Box for Residential ภายใต้แบรนด์ G-Cell มานำเสนอ ซึ่งพัฒนาโดย บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) บริษัทร่วมทุนระหว่างอรุณ พลัส และ GPSC โดยผลิตภัณฑ์นี้เป็นอีกนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นถังพลังงานสำรองที่จะช่วยเก็บพลังงานจาก Solar Cell มาสะสมไว้ใช้งานภายในบ้านได้ ทั้งเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ EV และการใช้งานอื่นๆ

โดย ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด กล่าวถึงแผนการขยายธุรกิจเพิ่มเติมว่ากลุ่ม ปตท. มีความมุ่งมั่นชัดเจนที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ดังนั้นบริษัทจึงมุ่งเน้นเป็นพิเศษในเทรนด์ Go Green และ Go Electric โดยนอกจากสิ่งที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังคงเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้และลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้รองรับการใช้งานที่จะขยายตัวอีกมากในอนาคต อาทิ การลงทุนในนวัตกรรมแบตเตอรี่อย่างครบวงจร การพัฒนาในส่วนของ Mobile Application เพิ่มเติม เพื่อให้การบริการรองรับทุกมิติมากขึ้น

การเชื่อมโยงที่สมบูรณ์ เพื่อก้าวสู่จักรวาล EV-verse โดยกลุ่ม ปตท.

จากทุกนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงภายในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เชื่อมโยงกันคือการสอดประสานการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุดภายใต้ระบบนิเวศ EV ที่สมบูรณ์แบบของกลุ่ม ปตท. โดยครอบคลุมตั้งแต่การนำเสนอยานยนต์ไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้ครัวเรือนและผู้ใช้ระดับองค์กร ด้วยการผลิตที่ได้มาตรฐาน ต่อเนื่องไปถึงการใช้งานในชีวิตประจำวันที่สะดวกสบายผ่านแผนการขยายจุดชาร์จและจุดบริการซ่อมบำรุงให้ครอบคลุมทั้งในสถานีบริการ PTT Station และในทำเลศักยภาพอื่นๆ

สำหรับผู้ที่เริ่มต้นก็ยังมีแอปพลิเคชันให้ทดลองใช้งาน เพื่อให้ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ก่อนตัดสินใจก้าวสู่โลกของ EV เต็มตัว และเพื่อสร้างสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังนำเสนอนวัตกรรมมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสลับแบตเตอรี่แบบไม่ต้องรอชาร์จที่จะตอบโจทย์ทั้งเรื่องการรักษ์โลกและความรวดเร็วในการใช้งาน เหมาะสมกับธุรกิจเดลิเวอรีที่กำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งในไทย โดย นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ได้กล่าวสรุปถึงความตั้งใจของบริษัทไว้อย่างน่าสนใจว่า

“กลุ่ม ปตท. เราไม่ได้มอง EV เป็นแค่โอกาสทางธุรกิจ แต่เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน ผลักดัน EV Ecosystem ให้เกิดเป็นภาพที่สมบูรณ์ในประเทศ จะเห็นว่าเราไม่ได้ทำแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่เรามองตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทุกอย่างที่ทำเปรียบเสมือนการต่อจิ๊กซอว์ที่จะช่วยให้เกิดภาพที่สมบูรณ์ หากขาดจิ๊กซอว์ชิ้นใดชิ้นหนึ่งภาพก็จะไม่สมบูรณ์ ดังนั้นเราจะพยายามสร้างความเชื่อมโยงของชิ้นส่วนต่างๆ ให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ร่วมกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้คนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น”

ทั้งหมดคือความตั้งใจของกลุ่ม ปตท. ที่น่าจับตามอง และจากกระแสตอบรับยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตอย่างร้อนแรงในปี 2022 นี้ จึงน่าลุ้นไม่น้อยเลยว่าอนาคตที่กลุ่ม ปตท. และทาง อรุณ พลัส คาดหวังไว้ อาจมาถึงไวกว่าที่ทุกคนคิด