โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าจับตามองและติดตาม

เพราะเป็นโครงการที่รัฐเปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกใหม่ หลังจากสัญญาฉบับเดิม ที่ได้ทำไว้กับบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ระยะสัญญา 30 ปี ซึ่งสัญญาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค.2566

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขสัญญาแล้ว “กรมธนารักษ์” จะต้องเปิดประมูลล่วงหน้า 2 ปี ก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุด จึงเป็นที่มาของการประมูล โดยการประมูลเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง ในปี 2564 ครั้งแรก ช่วงเดือน ก.ค. ส.ค.2564 และมีการแจ้งยกเลิกการประมูล เพราะปรับปรุงเงื่อนไขการประมูลใหม่ และไม่มีการประกาศรายชื่อ ผู้เสนอราคาประมูลแต่อย่างใด

ครั้งที่ 2 ช่วงเดือน ก.ย.2564 กรมธนารักษ์ได้ส่งหนังสือเชิญชวนเอกชน 5 ราย ซึ่งเป็นรายเดิมที่เข้าร่วมประมูลครั้งที่ 1 แต่มีการยื่นเอกสารการประมูล 2 ราย คือ อีสท์วอเตอร์ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ภายใต้เงื่อนไขต้องขายน้ำดิบในราคา 10.98 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุสัญญา 30 ปี ซึ่งเป็นการปรับลดจากปัจจุบันที่อีสท์วอเตอร์ขายน้ำดิบในราคา 13 บาทต่อหน่วย

ผลการประมูลครั้งที่ 2 ปรากฏว่า “วงษ์สยาม” เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุดที่ 25,693.22 ล้านบาท

...

ขณะที่ “อีสท์วอเตอร์” เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 24,212.88 ล้านบาท ราคาแตกต่างกัน 1,480.34 ล้านบาท ดังนั้นวงษ์สยามจึงเป็นผู้ชนะประมูล

และเมื่อ “อีสท์วอเตอร์” ในฐานะผู้รับสัมปทานรายเดิม เป็นผู้พ่ายแพ้ จึงจำเป็นต้องเดินหน้ายื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกโครงการท่อส่งน้ำฯและกรมธนารักษ์ ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอความเป็นธรรม ขณะนี้คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง

ขณะที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานนั้น ได้มีการประชุมคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 ที่ผ่านมา เพื่อประกาศรับรอง “วงษ์สยาม” เป็นผู้ชนะประมูล เพราะเป็นผู้เสนอผลประโยชน์ให้รัฐสูงสุด โดยไม่รอฟังคำตัดสินของศาลปกครอง

โดยนายสันติให้เหตุผลว่า ก่อนจะลงมติรับรองผลการประมูล ได้สอบถามกรมธนารักษ์ถึงขั้นตอนการดำเนินการทั้งหมดว่าดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งกรมธนารักษ์ยืนยันว่าดำเนินการครบถ้วน ส่วนกรณีที่ผู้ไม่ชนะการประมูลได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองนั้นก็ถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้

ดังนั้น การพิจารณาของคณะกรรมการนั้นได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและรายได้ของรัฐเป็นหลัก และน้ำก็เป็นเหมือนลมหายใจของภาคตะวันออก จะหยุดส่งน้ำไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะจะกระทบความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล ประกอบกับรัฐ ยังได้ปรับลดค่าน้ำลงมาจากปัจจุบัน 13 บาทต่อหน่วย เหลือ 10.98 บาทต่อหน่วย เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ในสภาวะเศรษฐกิจซบเซาด้วย

เนื่องจากภาคตะวันออก เป็นเมืองเศรษฐกิจ มีนิคมอุตสาหกรรมมากมายหลายแห่งที่จำเป็นต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตสินค้า และในอนาคตยังมีการขยายโรงงานอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ขณะเดียวกัน รัฐต้องตอบคำถามสังคมว่าตลอดเวลาปีที่ผ่านมา ได้รับผลประโยชน์จากคู่สัมปทานรายเดิมจำนวนเท่าใด เพื่อสร้างความกระจ่างให้สังคมได้รับรู้ด้วย

สำหรับผลประโยชน์ที่รัฐได้รับจากผู้รับสัปทานรายเดิมนั้น กรมธนารักษ์ได้รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2540-2563 หรือตลอดระยะเวลา 30 ปี กรมธนารักษ์ได้รับเงินส่วนแบ่งรายได้เข้ารัฐแล้ว 526.60 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 21.94 ล้านบาท

ส่วนเหตุผลของการประมูลล่วงหน้า 2 ปี เพราะหากเป็นผู้ชนะรายใหม่ ต้องเตรียมทำบัญชีทรัพย์สิน การโอนย้ายทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาตรวจสอบ ขณะที่เหตุผลที่ไม่รอคำตัดสินของศาลปกครอง เพราะเกรงจะล่าช้า และสร้างความเสียหาย ด้วยกรมธนารักษ์มั่นใจแล้วว่าได้ดำเนินการครบทุกขั้นตอนของกฎหมาย และรัฐจะได้ผลประโยชน์ทันทีจากค่าแรกเข้า 1,450 ล้านบาท หลังจากมีการลงนามในสัญญากับ “วงษ์สยาม” ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 3-4 เดือนในการลงนามในสัญญา เมื่อลงนามในสัญญาอย่างเป็นทางการ ก็ต้องเริ่มกระบวนการตรวจสอบทรัพย์สินตามลำดับขั้นตอนต่อไป

ส่วนการดิ้นรนต่อสู้ ของ “อีสท์วอเตอร์” ก็ต้องดำเนินการต่อจนกว่าจะถึงที่สุด เพราะเป็นธุรกิจที่ผูกขาดตลอด 30 ปี ฉะนั้นก็ต้องเกาะติดการต่อสู้ของ “อีสท์วอเตอร์” และการทำธุรกิจในอนาคต

เพราะเมื่อไม่ได้บริหารจัดการต่อไปแล้ว ย่อมมีผลกระทบ ต่อการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!!

ดวงพร อุดมทิพย์

...