นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า ในปี 2565 คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้กำหนดเป้าหมายการกำกับการแข่งขันทางการค้าไว้ 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ การกำกับดูแลการแข่งขันธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทุกรูปแบบ ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เช่น การจำหน่ายสินค้าหรือบริการ การขนส่งสินค้า การให้บริการรับสั่งและจัดส่งอาหาร และธุรกิจจองโรงแรมที่พัก ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่จากต่างประเทศ และปี 2564 มีมูลค่าทางธุรกิจมากถึง 4 ล้านล้านบาท รวมถึงจะกำกับดูแลการรวมธุรกิจ โดยเฉพาะการรวมธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยปี 2564 มีการรวมธุรกิจมากที่สุดถึง 32 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 2 เท่า และมีมูลค่าการรวมธุรกิจ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4 เท่า ตลอดจนการส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) สามารถแข่งขันได้มากขึ้น

“ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดปัญหาเหลื่อมล้ำ มีแนวโน้มเกิดการควบรวมธุรกิจมากขึ้นเพื่อปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาด หรือมีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า ให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”

นอกจากนี้ ในปีนี้ กขค.จะพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลเพิ่มเติม โดยปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และแนวปฏิบัติทางการค้า รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ และร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ ตลอดจนนำเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างพฤติกรรมการแข่งขัน พร้อมได้จัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจเชิงลึก รวมถึงปรับตราสัญลักษณ์ให้เป็นสากล.

...