Investree ตั้งเป้าปี 65 ออก "หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง" ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนอีก 1,000 ล้าน หลังปี 64 ท็อปฟอร์มโต 300 เท่า

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 65 นางสาวณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ Investree กล่าวว่า ภาพรวมตลาดการปล่อยสินเชื่อเพื่อ SMEs นั้น ปัจจุบันไทยมีบริษัทจดทะเบียนผู้ประกอบการประมาณ 3 ล้าน บริษัท 99% หรือประมาณ 2.9 ล้านเป็น SMEs และมากกว่า 2 ล้านบริษัทนั้นเป็นบริษัทขนาดเล็ก ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs ก็ยังคงมีอยู่ ถึงแม้ในตลาดจะมีการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อสูง

แต่บริษัทขนาดเล็กยังคงเจอปัญหาเข้าไม่ถึงเงินกู้เหมือนเดิม แน่นอนว่าในภาวะวิกฤตินี้เงื่อนไขบางอย่างของธนาคารกลายเป็นข้อกำหนดที่มาจำกัดสิทธิ์ เช่น ประวัติชำระหนี้ที่ไม่ดีนัก ไม่ยอมชำระหนี้ มีหนี้สินติดค้าง หรือชำระเงินช้าเมื่อถึงกําหนดชำระ หุ้นกู้ crowdfunding จึงมาเปิดโอกาสให้กับ SME และแน่นอนว่าเราก็เห็นโอกาสเติบโตจากตลาดนี้เช่นกัน รวมไปถึงโอกาสจากนักลงทุนไทยที่ก็เปิดกว้างในการเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งการลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงก็ยังผันผวนน้อยกว่าสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ และให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอกว่า

สำหรับ Investree ในปี 64 ที่ผ่ามา บริษัทเติบโตก้าวกระโดดมากกว่า 300 เท่า โดยมีมูลค่าหุ้นกู้รวมทั้งสิ้นกว่า 221 ล้านบาท คิดเป็น 16% ของมูลค่าตลาดรวม1,391 ล้านบาท และ 29% ของจำนวนบริษัทที่ออกหุ้นกู้ 140 บริษัท มีนักลงทุนที่เข้าใจความเสี่ยงของ SMEs และต้องการช่วย SMEs เพิ่มขึ้นจาก 38 ราย เป็น 269 ราย โดยอัตราเฉลี่ยของผลตอบแทนที่ได้รับคือ 11% และ NPL ยอดเป็นศูนย์

...

อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่าหุ้นกู้ที่เราออกจะราคาไม่สูงนัก แต่ถ้าดูเปอร์เซ็นต์จำนวนบริษัทที่มาออกหุ้นกู้กับเราจะเห็นชัดเจนว่าเราช่วย SME ที่ต้องการต่อลมหายใจธุรกิจจริงๆ โดยเฉพาะรายย่อยมากๆ ที่ต้องการทุนไปหมุนเวียนในจังหวะที่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งมีทั้งการขอออกหุ้นกู้ซ้ำจาก SME รายเดิม 75% และรายใหม่อีก 25% อินเวสทรี เชื่อมั่นว่าทุกๆ คนมีโอกาสเติบโต หรือ Everyone Can Grow ดังนั้นไม่ควรจะมีใครต้องล้มไปจากความตั้งใจในการทำธุรกิจเพียงเพราะขาดทุนหมุนเวียน ที่ผ่านมาเราช่วยเหลือ SMEs ไปแล้วกว่า 40 บริษัท ซึ่งมีพนักงานรวมๆ แล้วมากกว่า 400 ชีวิตเลยทีเดียว

นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลายทั้งกลุ่มที่มี supply chain ขนาดใหญ่ เช่น เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN เซ็นทรัล รีเทล หรือ CRC ด้วยเราเห็นโอกาสของการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน Value Chain ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่จับมือพันธมิตรฝ่าวิกฤติโควิดด้วยแผนช่วยเหลือคู่ค้าและผู้ประกอบการ หาแหล่งเงินทุนเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจที่มากกว่า 50% เป็น SMEs มีผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นคู่ค้าของกลุ่มเซ็นทรัลมาออกหุ้นกู้กับเราประมาณ 20 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มที่เป็นพันธมิตรกับเราคือกลุ่มทำธุรกิจบริการทางด้านการเงิน และระบบการจัดซื้อบนดิจิทัล แพลตฟอร์ม กลุ่มนี้เราเข้าไปเป็นบริการเสริมทางด้าน CRM และด้าน Supply Chain Finance เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจของเขา ขณะเดียวกันเราก็ได้ลูกค้าจากพันธมิตรด้วย ทั้ง 3 บริษัทนี้เป็นพันธมิตรกับเรามาตั้งแต่เริ่มต้น ได้แก่ 2C2P เป็น Payment gateway พันธวณิช ระบบ e-procurement และ FLOWACCOUNT ซึ่งเป็น online accounting software

นางสาวณัทสุด กล่าวอีกว่า ในปี 65 นี้ บริษัทจะต่อยอดและขยายธุรกิจสู่ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก นั่นก็คือ SMEs นักลงทุน และพันธมิตร มากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าจะขยายมูลค่าหุ้นกู้ที่เราออกประมาณ 5 เท่า หรือกว่า 1,000 ล้านบาท ขยายจำนวนนักลงทุน 8 เท่า หรือให้มากกว่า 320 ราย ซึ่งจะมีทั้งนักลงทุนสถาบันที่อยู่ระหว่างการลงทะเบียน

รวมถึงกองทุนต่างประเทศที่กำลังพิจารณาลงทุน ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในสินเชื่อ P2P ในต่างประเทศอยู่แล้ว รวมไปถึงแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ ที่ให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชน และในกลุ่มที่เห็นศักยภาพของการร่วมมือกับ Fintech เพื่อนำเครื่องมือที่เรามีไปใช้ในการทำงานของธุรกิจเขา

สำหรับ Live Platform ของทางตลาดทรัพย์ฯ และ กลต.ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กทั้ง SMEs Startups เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นนั้น เราดีใจที่มีโครงการดีๆ จะเข้ามาช่วยสนับสนุน SME และสตาร์อัพไทย จากข้อมูลของ ADB พบว่า จำนวนบริษัทในไทยประมาณ 3 ล้าน 99% เป็น SME หรืออยู่ที่ประมาณ 2.9 ล้าน และที่เป็นขนาดเล็ก SMEs อยู่ที่ประมาณ 2-2.5 ล้านบริษัท ซึ่งเรามองว่า SMEs ตลาดใหญ่มาก และอาจจะไม่ใช่ทาร์เก็ตของ Live Platform ซึ่งอินเวสทรีน่าจะตอบโจทย์ในส่วน SMEs ในแง่การแหล่งเงินทุนที่ยืดหยุ่นกว่าธนาคาร

นายวรกร สิริจินดา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ส่วนระบบหลังบ้านของ Investree นั้นเราให้ความสำคัญและเพิ่มความแข็งแกร่งในระบบ Cyber Security ที่พร้อมดูแลและติดตามการลงทุนของนักลงทุนได้ ดูแลทรัพย์สินของนักลงทุน ด้วยผู้รับฝากสินทรัพย์ หรือ Custodian ระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพที่ปลอดภัยจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ หรือ cyber attack

นอกจากนี้ยังเสริมประสิทธิภาพของระบบ Credit Scoring ในการวิเคราะห์คุณสมบัติความน่าเชื่อถือของ SME ที่มาออกหุ้นกู้ รวมถึงทีมบุคลากรที่เข้าใจผลิตภัณฑ์การเงิน เข้าใจเกณฑ์กำกับดูแล เข้าใจความเสี่ยงและความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์ที่ขายกับนักลงทุน เราเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคง เป็นที่เชื่อมั่นวางใจได้ เพราะเราเองก็เทียบเท่ากับสถาบันการเงิน ความมั่นคงและการบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

...

"เรามอนิเตอร์ระบบ Credit Scoring อยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่มี NPL แต่ถ้าหากมีตัวเลขเรื่องการผิดนัดชำระขึ้นมาเราก็จะกลับมาทบทวนตัว Scoring ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรเพิ่มเติมหรือไม่".