นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรืออีอีซี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธาน ได้รับทราบความก้าวหน้าการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่เอกชนคู่สัญญาขอขยายเวลาการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 10,000 ล้านบาท เพราะผลกระทบจากโควิด-19

“คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาได้ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนคู่สัญญา กำลังดำเนินการที่จะนำไปสู่การแก้ไขสัญญาโดยไม่เป็นภาระทางการเงินของรัฐ โดยยังไม่มีข้อสรุปกลับมายัง สกพอ. ซึ่งจะเร่งรัดดำเนินการเจรจาในข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชนคู่สัญญาให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว คาดไม่เกิน 1 เดือนจากนี้ โดยภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และเป็นธรรมต่อภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม เงินที่ภาคเอกชนจ่ายล่าช้าจะถูกคิดดอกเบี้ยด้วย”

ขณะที่การบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ให้กับเอกชน แม้ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารจะกลับมาแล้ว แต่ยังห่างจากการประมาณ การตามการศึกษาที่ 80,000 คนต่อวัน ซึ่งการแก้ไขสัญญาจะให้ความสำคัญกับการปรับระยะเวลาค่าให้สิทธิ ด้านการส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ล่าสุด รฟท.ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญา 3,493 ไร่ หรือเกือบทั้ง 100% แล้ว เหลืออีกเพียง 20 ไร่ หรือ 0.57% ที่เจ้าของพื้นที่เดิมยังหาที่อยู่ใหม่ไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เสร็จเดือน พ.ค.นี้

นอกจากนี้ กบอ. ยังเห็นชอบจัดสิทธิประโยชน์ 10 ปีแรกให้กับโครงการเมืองการบินภาคตะวันออกเพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) เทียบเท่าสิงคโปร์ ดูไบ และฮ่องกง ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์, ศูนย์แสดงศิลปะ, ร้านอาหารที่ได้มิชลินสตาร์ 10 แห่ง, ร้านขายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ ฟรี), ศูนย์ประชุม และที่อยู่อาศัย ซึ่งจะสนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจ 24 ชั่วโมง เป็นเขตปลอดอากรและสรรพสามิต รวมทั้งภาษีสรรพากรในบางกรณี อีกทั้งจะสนับสนุนด้านการออกวีซ่าและใบอนุญาตการทำงานในลักษณะ 5+5 ปี

...

สำหรับผู้ทำงานและนักลงทุนต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกด้วย ขณะเดียวกัน เห็นชอบจัดตั้งบริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด โดยอีอีซีถือหุ้น 100% เพื่อให้เป็นหน่วยงานพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ร่วมกับเอกชน.