นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าแพง รัฐบาลต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่มาล็อกห้ามขึ้นราคาแค่ปลายทาง แต่ต้นทางซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตปรับขึ้นราคาหมดแล้ว เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นต้นทุนเกษตรกรต้นทางขึ้นราคามาแล้ว 10-20% กระป๋องขึ้นราคามาแล้ว 40-50% ถ้าปล่อยให้ปัญหาต้นทางราคาแพง แต่สั่งปลายทางห้ามขึ้นราคา ผู้ประกอบการรายเล็กอยู่ไม่ได้ก็ต้องปิดกิจการ รวมทั้งควรลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลง ราคาสินค้าต่างๆ ก็จะลดลงด้วย เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนหลักของการผลิตสินค้า คาดการณ์ว่าปี 65 ค่าใช้จ่ายการบริโภคอาหารจะสูงขึ้น 8-10% “ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบ ต้นทุนเพิ่มแต่การปรับราคาขายเป็นเรื่องยาก ต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง ส่งผลต่อการเงินของผู้ประกอบการที่แบกรับต้นทุนรอบด้านไม่ไหวจนปิดกิจการ โดยต้นทุนผลิตสินค้าที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบทั้งห่วงโซ่ ส่งผลต่อการแข่งขันสินค้าอาหารในตลาดโลก สุดท้ายกระทบต่อผู้บริโภค หากไม่มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จะส่งกระทบต่อผู้บริโภคจากการขึ้นราคาอาหารแน่นอน

ส่วนความท้าทายต่อการแข่งขันในการส่งออก คือ 1.การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ที่กระทบการขนส่งสินค้าในท่าเรือในตลาดหลักทั้งสหรัฐฯและยุโรป 2.การขึ้นราคาวัตถุดิบทั้งห่วงโซ่การผลิต 3.ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ อาจยาวไปถึงหลังตรุษจีน 4.ปัญหาค่าระวางเรือ 5.การคุมเข้มโควิดของคู่ค้าอย่างจีนที่ใช้มาตรการซีโร่ โควิด จำกัดด่านการค้าในการนำเข้า อาจส่งผลต่อสินค้าผลไม้ เช่น ทุเรียนที่กำลังจะออกใน 2 เดือนข้างหน้า 6.มาตรการป้องกันโรงงานจากโควิด ทั้งตรวจเอทีเคก็เป็นต้นทุนค่าขนส่งที่ขึ้นตามราคาน้ำมัน ต้นทุนแพ็กเกจจิ้งก็ปรับขึ้น 7.ปัญหาขาดแคลนแรงงาน.

...