นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดแรงงานของประเทศไทยจะค่อยๆฟื้นตัวมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโควิด-19 หรือคลายล็อกดาวน์ แม้ว่าตลาดแรงงานอาจมีความผันผวนเป็นระยะๆ เนื่องจากตลาดแรงงานของประเทศไทยส่วนหนึ่ง อยู่ในภาคการค้าบริการและการท่องเที่ยว และธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการค้าบริการและการท่องเที่ยว ที่มีแรงงานในระบบรวมกัน 18 ล้านคน “ตลาดแรงงานของไทยได้พ้นจุดต่ำสุดแล้ว โดยขณะนี้แรงงานคนไทยรวมกับต่างด้าว และตัวเลขเสมือนว่างงานที่หายไปนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 4 ล้านคน แต่มีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุน เมื่อเดือน ก.ค.ขยายตัว 35.4% สูงสุดในช่วง 7 เดือน ทำให้การจ้างงานเริ่มกลับมา แต่ยังคงมีปริมาณไม่มากนักเพราะจำกัดอยู่เฉพาะภาคการผลิตเพื่อการส่งออกและค้าปลีกค้าส่งบางส่วน เพราะในส่วนของธุรกิจการท่องเที่ยวยังไม่เกิดการจ้างงาน”

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลสภาวะแรงงานเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาพบว่า ผู้มีงานทำในภาคเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบประกันสังคม รวมกัน 24.28 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานอยู่ในเอสเอ็มอี 12.71 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและบริการ ขณะที่จำนวนคนว่างงานข้อมูลภาครัฐ ระบุว่ามีประมาณ 730,000 คน ซึ่งตัวเลขที่น่าสนใจคือแรงงานที่ทำงานไม่เกิน 1-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเรียกว่าผู้เสมือนว่างงานมีจำนวนสูงถึง 3.53 ล้านคน

“แรงงานเหล่านี้เป็นผู้ว่างงานแฝงและในจำนวนนี้ พบว่า 21% ทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คือสภาพไม่ต่างจากคนว่างงาน ส่วนแรงงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่ล่าสุด ณ เดือน ก.ค. มีเพียง 11.12 ล้านคน”.

...