นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการนำ ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯที่จะเริ่มประกาศใช้ปี 65 มาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางทั่วประเทศไทยว่า พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯดังกล่าว หากมีผลบังคับใช้จะทำให้ ขร.สามารถเข้าไปกำกับดูแล กำหนดอัตราค่าโดยสาร ควบคุมมาตรฐานราง การให้บริการของผู้ให้บริการคมนาคมขนส่งในระบบรางทั้งหมดของประเทศไทย รวมทั้งจะเข้าไปดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้ระบบรางทั้งหมดให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่ง พ.ร.บ.รางฯดังกล่าวจะครอบคลุมทั้ง รถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.รางฯนั้น ในส่วนของการคุ้มครองผู้โดยสารนั้น ในอนาคตหากมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ขร.จะเป็นผู้กำหนดราคาค่าโดยสารของระบบรางทั้งหมด โดยกำหนดอัตราราคาสูงสุดที่สามารถจัดเก็บได้ รวมถึงจะมีการกำหนดสูตรคำนวณค่าโดยสารให้เป็นมาตรฐาน ที่สำคัญสามารถเข้าไปกำหนดราคาในแต่ละสัญญาสัมปทานที่จะเกิดขึ้น ในโครงข่ายระบบรางทั้งหมด โดยระบุในสัญญาแนบท้ายหรือข้อเสนอโครงการ Request for Proposal (RFP) ว่า การกำหนดราคาค่าโดยสาร หรือเปลี่ยนแปลงราคา จะต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าของสัญญาและกระทรวงก่อนที่จะมีการปรับราคาค่าโดยสาร และการคำนวณการจัดเก็บค่าโดยสารจะต้องขึ้นอยู่กับ ขร.ที่เป็นผู้กำกับดูแลก่อน จากเดิมในสัญญาไม่ได้ระบุไว้

นายพิเชฐกล่าวต่อว่า ในส่วนของบุคลากรที่จะมาทำงานเกี่ยวกับราง ทั้งคนขับรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง พ.ร.บ.รางฯ จะกำหนดคุณสมบัติของ ผู้ขับรถไฟทุกประเภท โดยต้องผ่านการทดสอบใบอนุญาตขับขี่รถไฟก่อนมาปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ขร.ยังมีนโยบายที่จะนำเที่ยววิ่งการเดินรถไฟที่ว่าง (สลอต) ช่วงเวลาที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ใช้ราง มาเปิดประมูลให้เอกชนที่สนใจใช้รางรถไฟของ รฟท. มาบริหารจัดการขนส่ง ผู้โดยสาร สินค้าได้ ซึ่งจะทำให้ รฟท. มีรายได้จากการเปิดเช่ารางเพิ่มขึ้น กว่าปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท/ปี ช่วยให้ รฟท.ลดการขาดทุนในแต่ละปีได้.

...