กกร.ขอนัดคุย “ประยุทธ์” ชง 5 ประเด็นเด็ด อาทิ ให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้แต่รัฐออกค่าใช้จ่าย ให้ อ.ย.เร่งอนุมัติวัคซีนเชิงรุกอิงตามเกณฑ์ WHO ไม่ต้องรอให้เอกชนมายื่นขอเสนอรวมแอปจองวัคซีนเหลือแอปเดียว อย่าเท อย่าเลื่อนฉีด ด้านส.อ.ท.–หอการค้า ไม่แปลกใจขยายล็อกดาวน์ ทำใจยาว 3 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าหารือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในประเด็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไปเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจ้งวันเวลานัดหารือกลับมาให้ทราบ
ทั้งนี้ กกร.ได้ยื่นขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหา 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การจัดหาและจัดสรรวัคซีน เช่น ขอให้รัฐบาลอนุญาตให้เอกชนเป็นผู้ติดต่อนำเข้าวัคซีนได้ไม่ต้องผ่านหน่วยงานรัฐ แต่ให้อยู่ในเกณฑ์ทั้งมาตรฐานและราคาที่เหมาะสม โดยให้รัฐบาลเป็นผู้ออกใบคำสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ โดยไม่ต้องรอให้บริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น ให้ใช้เกณฑ์ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO), ขอให้บริหารจัดการแอปพลิเคชันจองวัคซีนให้มีแอปฯเดียวและต้องไม่ยกเลิกหรือเลื่อนนัดหมายอีก รวมทั้งเร่งการจัดหาวัคซีนให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีและเข็ม 3 สำหรับบุคคลทั่วไป เนื่องจากเริ่มมีการระบาดไปยังเด็กมากขึ้น และแผนการฉีดวัคซีนเข็ม 3 สำหรับบุคคลทั่วไปด้วย
2.ขอให้สนับสนุนให้เอกชนดำเนินการผลิตและจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอ เพื่อลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต 3.สนับสนุนค่าใช้จ่ายชุดตรวจหาเชื้อ Rapid Antigen Test Kit ที่ได้มาตรฐานและเพียงพอ รวมทั้งการบริหารกำจัดขยะอันตรายให้มีประสิทธิภาพ 4.ขอให้จัดการสถานที่กักตัวและคัดแยกผู้ป่วย เช่น ปรับลดเกณฑ์ Hospitel และเพิ่ม Hotel Isolation รองรับกลุ่มสีเขียว 5.แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับคืน
สู่ปกติ เช่น ให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเอสเอ็มอี ระยะเวลา 3 ปี, ขยายลดภาษีที่ดิน 90% อีก 1 ปี, ลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับเอกชน ที่มี ค่าใช้จ่ายซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน เป็นต้น
...
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ได้ขยายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 29 จังหวัดต่อไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค.นี้ ว่า มีแนวโน้มสูงที่รัฐบาลจะต้องขยายเวลาล็อกดาวน์ต่อเนื่องไปอีก 2-3 เดือน หากไม่สามารถกดตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่สูงระดับ 20,000 คนลงได้ รวมถึงยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งหากยิ่งขยายเวลาล็อกดาวน์มากขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้มากขึ้นเช่นกัน “แม้จะมีการกำหนดมาตรการผ่อนผันโดยให้เปิดกิจการธนาคาร/สถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้าได้แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญ”
ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็แนะนำให้รัฐบาล กู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท เพื่อดูแลเศรษฐกิจซึ่งเรื่องนี้ถ้าย้อนไปจะพบว่าส.อ.ท.ก็ได้เคยเสนอมาก่อนหน้าแล้วว่าเป็นเรื่องจำเป็นโดยล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้มีการหารือ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ และประธานภาคทั่วประเทศ ได้ข้อสรุปสิ่งสำคัญที่จะป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม คือ การเร่งจัดสรรวัคซีนเพื่อให้แรงงานในภาคการผลิตได้รับการฉีดทั้งหมดโดยเร็วที่สุด
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขยายล็อกดาวน์เป็นสิ่งจำเป็น แต่ขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการเสริมมาเยียวยาให้รวดเร็ว และต้องทำให้ชุดตรวจโควิดราคาถูกลง ให้ประชาชนหาซื้อง่าย.