ธปท.ยอมรับโควิดสายพันธุ์ “เดลตา” กดเศรษฐกิจไทยหนัก จ่อลดประมาณการเติบโตปีนี้ลงจาก 1.8% จับตาฐานะธุรกิจทรุด ปลดคนงานเพิ่ม หนี้ครัวเรือนสูงลิ่ว ขณะที่การใช้จ่ายลด ยันดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เป็นอุปสรรคเศรษฐกิจ และพร้อมใช้นโยบายการเงินเพิ่มขึ้นหากจำเป็น ชี้รัฐกู้เงินเพิ่มสามารถทำได้

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า การออกมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปราะบางมากขึ้น โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ผ่านมา ได้หารือกันว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลตาทำให้การควบคุมการระบาดช้าลง เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ช้าลง และกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมากกว่าประมาณการล่าสุดที่คาดว่าปีนี้จะเติบโต 1.8%

ด้าน น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า การระบาดที่รุนแรง ยืดเยื้อ และมีสายพันธุ์ใหม่ ลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน กระทบความเชื่อมั่นในประเทศ และอาจนำไปสู่วิกฤติสาธารณสุข ซึ่งจะกระทบการใช้จ่ายในประเทศอย่างรุนแรง ขณะที่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าช้า มีโอกาสที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ แต่จะลดลงเท่าไร อยู่ระหว่างการประเมินการเร่งใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ มีผลพยุงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ได้ 0.9%

“ธปท.จะจับตาปัจจัยเสี่ยง ทั้งการระบาดที่อาจรุนแรงขึ้นและการกลายพันธุ์, ความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลัง, ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจนำไปสู่การเลิกจ้างงาน, ความเปราะบางของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและอาชีพอิสระ, หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง รายได้ของผู้กู้ต่ำ รวมทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออกในหลายอุตสาหกรรม”

...

ส่วนนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า กนง.ยังเน้นดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายให้น้ำหนักสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และทำให้ค่าเงินบาทไม่เป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยหากผลกระทบเศรษฐกิจมีมากขึ้น สามารถใช้นโยบายการเงินที่เพิ่มขึ้นได้ มองว่าขณะนี้นโยบายการเงินและการคลังยังสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม เพื่อใช้เยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงกว่า 60% ก็สามารถทำได้ เพราะเครดิตในการกู้เงิน และอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจไทยยังดี

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมระหว่าง กนง. และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เพื่อประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยในช่วงวิกฤติโควิดระลอก 3 พบว่า ตลาดการเงินไทยยังมีเสถียรภาพและรองรับวิกฤติได้ แต่การระบาดรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าลงและไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ธุรกิจและครัวเรือนเปราะบางเพิ่มขึ้น ที่ประชุมจึงให้น้ำหนักการดูแลความเสี่ยง 2 ประเด็น คือ 1.หนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.5% ของจีดีพี ครัวเรือนมีปัญหาชำระหนี้ จึงต้องผลักดันให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้รายย่อย และ 2. การสะสมความเสี่ยงในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงต้องพิจารณากรอบมาตรการดูแลเสถียรภาพระดับมหภาค ให้พร้อมใช้หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง.