พาณิชย์ ระบุ 9 ประเทศส่งข้อมูลนโยบายการค้าให้อเมริกา ทำรายงานเหตุขาดดุลการค้าแล้ว ขาดจีน อินเดีย มาเลย์ เวียดนาม ส่วนไทย ภาคเอกชนมะกันรุมยำ ชี้เหตุได้ดุล จ่อส่งล็อบบี้ยิสต์เจรจา ทำเอกสารแจง...

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ (สพต.) ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ได้รายงานมายังกระทรวงพาณิชย์ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ขอความร่วมมือ 13 ประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ รวมถึงไทย จัดทำข้อมูลนโยบายการค้าส่งให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ภายในวันที่ 10 พ.ค.60 เพื่อหาสาเหตุของการขาดดุลและทำรายงานเสนอต่อประธานาธิบดี ตามคำสั่งพิเศษ (Executive Order) นั้น ล่าสุด มี 9 ประเทศที่ส่งข้อมูลแล้ว คือ ไทย ไต้หวัน สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเม็กซิโก ส่วนเวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย และจีน ยังไม่ได้จัดส่งข้อมูลให้

สำหรับข้อมูลจากไทย กระทรวงพาณิชย์ไทยได้ส่งไปแล้วตามกำหนด โดยยืนยันว่า นโยบายการค้าของไทยไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ได้เอาเปรียบ หรือแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม จนได้ดุลการค้าสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนสหรัฐฯ ได้ยื่นข้อมูลเพื่อประกอบการจัดทำรายงานด้วย ประมาณ 100 สมาคม โดยมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับข้อมูลนโยบายการค้าที่แต่ละประเทศจัดส่งให้ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย หลายสมาคมเห็นว่า การที่ไทยได้ดุลการค้าเพราะมีมาตรการกีดกันการค้า หรือการอุดหนุนภายใน จนกระทบทางลบต่อสมาคม

ในส่วนสมาคมที่พาดพิงไทย ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตกุ้งสหรัฐฯ (American Shrimp Processors Association) เพราะไทยมีการทุ่มตลาดสินค้ากุ้งจนทำให้ผู้ผลิตกุ้งของสหรัฐฯ ได้รับความเสียหาย, สมาพันธ์ผู้ผลิตสุกรแห่งชาติ (National Pork Producers Council) เพราะไทยห้ามนำเข้าสุกรจากสหรัฐฯ เนื่องจากมีสารเร่งเนื้อแดง แต่ไทยกลับได้รับสิทธิส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ โดยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีนำเข้า

...

นอกจากนี้ สมาคมข้าวแห่งสหรัฐฯ (USA Rice Association) ระบุว่า การอุดหนุนภายในของไทยทำให้การส่งออกข้าวของสหรัฐฯ ไปประเทศต่างๆ ลดลง, สมาพันธ์ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์นมสหรัฐฯ และ Whirlpool Association ระบุว่า ไทยมีอัตราภาษีนำเข้าสูง เก็บอากร และค่าธรรมเนียม ทำให้การนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ทำได้ยาก, พันธมิตรทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (International Intellectual Property Alliance) ระบุว่า ไทยยังมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไม่เพียงพอ

ขณะที่ผู้ผลิตและวิจัยยาแห่งอเมริกา (Pharmaceutical Research and Manufacturers of America) ระบุ ไทยมีระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการกำหนดราคากลางยาที่ไม่โปร่งใส อีกทั้งยังมีความล่าช้าในการออกสิทธิบัตรยา ทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสทางธุรกิจ, สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติก (Plastic Industry Association) ระบุว่า มาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษีของไทย ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าในผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

ทั้งนี้ สพต. ณ กรุงวอชิงตัน เห็นว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งมีทัศนคติทางลบต่อไทย โดยกล่าวหาว่าไทยใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และยังมีอัตราภาษีนำเข้าในบางสินค้าสูง ซึ่ง สพต.จะหารือกับบริษัทที่ปรึกษา (ล็อบบี้ยิสต์) และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ในการทำเอกสารชี้แจงประเด็นข้อกังขาต่างๆ  รวมทั้งเข้าเยี่ยมบริษัท/สมาคม เพื่อทำความเข้าใจและหาแนวทางแก้ไขต่อไป.