นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 63 ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองว่า มีการจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น 6,103 ราย ลดลง 16% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีจำนวน 1,151 ราย โดยมีทุนจดทะเบียนจัดตั้ง 7,254 ล้านบาท ลดลง 34.99% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีทุนจัดตั้ง 26,972.15 ล้านบาท โดยในจำนวนจดจัดตั้งใหม่นั้น สัดส่วน 70.34% หรือ 4,294 รายอยู่ในจังหวัดชลบุรี

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การจดจัดตั้งใหม่ลดลง มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนใหม่ และชะลอขยายกิจการ ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.63 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ใกล้เคียงกับปี 62 และปี 61 แต่ตั้งแต่เดือน มี.ค.63 เป็นต้นไป ที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการที่เข้มข้นในการป้องกันโรค และห้ามเดินทางระหว่างประเทศ เป็นผลให้ในเดือน เม.ย.63 มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่เพียง 296 ราย ลดลง 55% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.63 และลดลง 45% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.62

ขณะที่ในเดือน พ.ย.-มิ.ย.63 แม้การระบาดเริ่มดีขึ้น รัฐบาลคลายมาตรการเข้มงวด แต่การจดจัดตั้งธุรกิจใหม่ยังคงลดลง เนื่องจากยังคงมีข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า และปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่ยังคงสร้างความกังวลให้ผู้ประกอบธุรกิจอยู่

สำหรับประเภทธุรกิจที่มีการจดทะเบียนสูงสุดในพื้นที่อีอีซี 3 อันดับแรก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์, ก่อสร้างอาคารทั่วไป และขนส่ง ขนถ่ายสินค้า โดยมีการจัดตั้งใหม่ที่จังหวัดชลบุรีสูงสุด รองลงมาเป็นระยอง และฉะเชิงเทรา โดยญี่ปุ่นเข้าลงทุนมากที่สุด 382,109 ล้านบาท รองลงมาคือ จีน 92,044 ล้านบาท และสิงคโปร์ 43,511 ล้านบาท สำหรับปี 64 คาดว่า แนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในอีอีซีจะใกล้เคียงกับปี 63 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดใหม่ของโควิด-19 ยังสร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ.

...