เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤติที่ยังไม่รู้จุดจบแน่ชัด จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในเกือบทุกสาขาธุรกิจ โดยมีความรุนแรงเป็นพิเศษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว เป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงาน ซึ่งมีสัญญาณความอ่อนแอมาตั้งแต่ในช่วงก่อนหน้า โดยกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงสูง คือ กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้าง SMEs ถือเป็นคนส่วนมากถึง 62% ของกำลังแรงงานไทย และมีความอ่อนไหวสูงต่อสภาวะเศรษฐกิจ

  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินว่า จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3-5 ล้านคน ถือเป็นระดับที่สูงกว่าทุกวิกฤตการณ์ในอดีตของไทย เพราะผลกระทบครั้งนี้กินวงกว้างกว่า และมีการหยุดชะงักฉับพลันของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเกษตรอาจไม่สามารถทำหน้าที่ดูดซับคนตกงานจากภาคอื่นๆ ได้เหมือนในอดีตจากปัญหาภัยแล้ง

  • จะมีแรงงานอีกจำนวนมากที่แม้จะไม่ตกงาน แต่จำนวนชั่วโมงทำงานและรายได้จะลดลงอย่างมาก หรือกระทั่งไม่มีรายได้เลยในบางช่วง ทั้งนี้คาดว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานจะเป็นไปอย่างช้าๆ ตามเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวแบบ U-shaped และผลจาก COVID-19 ที่จะยังมีอยู่ตราบใดที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีน

  • ความเสี่ยงในตลาดแรงงานมีแนวโน้มส่งผลต่อเนื่องไปยังคุณภาพชีวิตของภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบางอยู่แล้วเป็นทุนเดิม โดยครัวเรือนไทยประมาณ 60% มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายเกิน 3 เดือน

...


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) เปิดเผยบทวิเคราะห์ พบว่า ตลาดแรงงานของไทยมีหลายสัญญาณของความอ่อนแอ ตั้งแต่ในช่วงก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤติโควิด-19 เพราะจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวนผู้มีงานทำของไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้มีงานทำเฉลี่ยในปี 2019 อยู่ที่ 37.6 ล้านคน ลดลงไป 4.8 แสนคน เมื่อเทียบกับจำนวนเฉลี่ยในปี 2014 สาเหตุมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการแรงงานมีน้อยลง และกลุ่มผู้สูงอายุออกจากกลุ่มแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 5.4 ล้าน เป็น 6.8 ล้านคน ทำให้ไตรมาสแรกของปีนี้ยังอยู่ในแนวโน้มขาลง โดยมีจำนวนอยู่ที่ 37.4 ล้านคน 

รวมถึงจำนวนชั่วโมงการทำงานลดลงจากปี 2019 อยู่ที่ 42.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 44.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2014 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของกลุ่มคนทำงานล่วงเวลา โดยคนกลุ่มนี้มีจำนวนลดลงจาก 9.7 เหลือ 6.8 ล้านคน หรือหายไปถึง 2.9 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว 

นอกจากนี้จำนวนผู้ว่างงานรวมเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 4 แสนคน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน และข้อมูลผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของสำนักงานประกันสังคม ล่าสุดพบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2020 จำนวนผู้ประกันตนที่ว่างงาน เฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 แสนคน โดยอัตราการว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่หลังช่วงวิกฤติการเงินโลก ปี 2008-2009 

  • แรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด เป็นกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้าง SMEs ที่ทำงานในธุรกิจการท่องเที่ยว มีจำนวน 6.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 17.3% ของจำนวนการจ้างงานรวม รองลงมาเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และก่อสร้าง ส่วนลูกจ้างในธุรกิจขนาดใหญ่และภาครัฐ มีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงที่น้อยกว่า แต่แรงงานในส่วนนี้ถือเป็นส่วนน้อยของการจ้างงานรวม

  • ประเมินว่าจำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3-5 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานประมาณ 8%-13% ของกำลังแรงงานรวมปัจจุบัน ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมาในปี 1985 โดยจะสูงกว่าสถิติอัตราการว่างงานสูงสุดเดิมที่ 5.9% ในปี 1987 ทิ้งห่างอัตราการว่างงานในวิกฤติต้มยำกุ้งที่ 3.4% ในปี 1998 และในวิกฤติการเงินโลก ปี 2008-09 ที่ 1.5% ในปี 2009

  • ประกอบกับมีมาตรการล็อกดาวน์ จำเป็นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ได้ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งภาคเกษตรที่เคยเป็นแหล่งดูดซับแรงงานก็มีแนวโน้มที่จะมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่นั้นในครั้งนี้ จากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง

...

ทั้งนี้มองว่า จะมีแรงงานอีกจำนวนมากที่แม้จะไม่ตกงาน แต่จำนวนชั่วโมงทำงานและรายได้จะลดลงอย่างมาก หรือกระทั่งไม่มีรายได้เลยในบางช่วง และหากผลกระทบลากยาวไปจนถึงครึ่งปีหลัง หรือนานกว่านั้น จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นได้มากกว่าที่ประเมินไว้ข้างต้น จากกิจการที่จะมีการปิดตัวลงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเสี่ยงที่มีสภาพคล่องไม่เพียงพอ

  • หลังผ่านพ้นมาตรการล็อกดาวน์ สถานการณ์ในตลาดแรงงานจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ ตามเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวแบบ U-shaped และผลจากโควิด-19 ที่จะยังมีอยู่ต่อเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของผู้คน ตราบใดที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีน โดยคาดว่าภาคธุรกิจน่าจะยังระมัดระวังในการใช้จ่ายและการจ้างงานจากความไม่แน่นอนที่ยังสูงในสถานการณ์ดังกล่าว

  • การสูญเสียรายได้และตกงานของแรงงาน จะนำไปสู่ความเดือดร้อนของครัวเรือนจำนวนมาก จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2019 พบว่า ครัวเรือนไทยที่พึ่งพารายได้จากการทำงานเป็นลูกจ้างอย่างเดียว มีจำนวน 7.9 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นประมาณ 36.2% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งในกลุ่มนี้มีจำนวนถึง 5.2 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 65.5% ของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวที่มีมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมรายจ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือน

  • หากเป็นครัวเรือนที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน จะมีครัวเรือนจำนวนถึง 4.3 ล้าน จากทั้งหมด 5.8 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 72.9% ที่มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่าย 3 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ครัวเรือนเหล่านี้อาจต้องปรับตัวโดยการลดการบริโภคลงอย่างมาก ตลอดจนขายหรือจำนองสินทรัพย์ที่มี ไปจนถึงการก่อหนี้ เพื่อนำมาใช้จ่ายอันจะเป็นการสร้างความเปราะบางเพิ่มเติมในระยะต่อไป.

...