กรมวิชาการเกษตร เดินหน้าเต็มที่ในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรไทยแบบยั่งยืน จัดตั้งกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร เพื่อแสวงหาพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่ทนต่ออากาศที่แปรปรวน มุ่งศึกษาการลดก๊าซเรือนกระจก และรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ด้วยการที่กรมวิชาการเกษตรเดินหน้าที่จะลดก๊าซเรือนกระจากในภาคเกษตรแบบยั่งยืน จึงจัดตั้งกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร พร้อมทั้งทำ MOU ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อส่งเสริมการดำเนินการตรวจรับรอง ประเมินโครงการรับรองการคำนวณคาร์บอนเครดิตทางการเกษตรและป่าไม้ ดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด และประเมินคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า กรมวิชาการเกษตร อยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดทำ Carbon Credit Baseline ในพืชเศรษฐกิจนำร่อง 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และมะม่วง เพื่อเป็นเส้นฐานคาร์บอนเครดิตพืชเศรษฐกิจหลักระดับประเทศ (National Carbon Credit Baseline) สำหรับพัฒนาพืชเป้าหมายเข้าสู่โครงการ T-VER เพื่อขอรับรอง ISO14065 จากสำนักงานมาตรฐานอุสาหกรรม (สมอ.) เพื่อเป็นหน่วยตรวจรับรองคาร์บอนเครดิต ตามมาตรฐาน T-VER ของ อบก.ล่าสุด กรมวิชาการเกษตร มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจสอบความใช้ได้ และผู้ทวนสอบสำหรับผู้ประเมินภายนอก สำหรับโครงการภาคสมัครใจ (VVB) จาก อบก.แล้ว 31 ราย

...

นายรพีภัทร์ กล่าวอีกว่า กรมวิชาการเกษตรและ อบก.จะขยายผลการทำ MOU นำร่องใน 3 โครงการ ได้แก่ การผลักดันต้นแบบ การจัดทำคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร ให้สามารถซื้อ-ขายได้จริงในพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ทุเรียน และมะม่วง การขอพัฒนา Methology เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตสำหรับ Biochar และการวิจัยคาร์บอนฟุตปรินต์ในพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน เมื่อกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานรับรอง VVB ได้แล้วนั้น จะมีประโยชน์ตามมาดังนี้ ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาสำหรับเกษตรกร หรือผู้ประกอบการที่สนใจ เนื่องจากมีกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานตรวจรับรอง (VVB) จึงสามารถเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำเอกสารและมีแพลตฟอร์มในการจัดทำโครงการ T-VER ภาคเกษตร และมีความพร้อมในการให้บริการในการตรวจความใช้ได้ (Validate) และรับรองคาร์บอนเครดิต (Verify)  

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวด้วยว่า ก่อนจะมีการจัดตั้งกองวิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ นั้น มีผลงานที่หลากหลายปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม หน่วยงานนี้ยังมุ่งแสวงหาแนวทางการเชื่อมโยงเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืช ให้สามารถทนกับสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรม และการตัดต่อยีน โดยพืชเศรษฐกิจใหม่บางส่วนเป็นพืชใหม่ เช่น พืชที่มีโปรตีนสูง/โปรตีนทางเลือก เช่น ไข่ผำ ที่เวลานี้ยังมีข้อจำกัดหลายส่วน โดยเฉพาะมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร โดยกองวิจัยพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ ได้ร่วมกับกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช หน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการตรวจสอบแหล่งผลิต GAP ไข่ผำ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตรสำหรับพืชอาหารไปก่อน ระหว่างที่รอมาตรฐานสินค้าสำหรับไข่ผำ ที่สำนักงานสินค้าเกษตรและมาตรฐานแห่งชาติ (มกอช.)

นายสมคิด ดำน้อย ผอ.กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร กล่าวว่า เราเป็นหน่วยงานใหม่ที่มีภารกิจขับเคลื่อนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืช การดำเนินงานมีทั้งส่วนของการวิจัยศึกษาแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาวิธีการให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต และการพัฒนาบุคลการให้มีความรู้ในการจัดการ และเป็นผู้ตรวจประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร

...

รวมทั้งศึกษาวิจัยพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นพืชอนาคตต่อเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการส่งออก หรือเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นอาหารแห่งอนาคต เช่น หมาก มะพร้าวน้ำหอม กาแฟอัตลักษณ์ กัญชา กัญชง กระท่อม การสกัดหาสารออกฤทธิ์จากพืชสมุนไพร เพื่อทำยารักษาโรค หรือเครื่องสำอาง ไม้เศรษฐกิจกักเก็บคาร์บอน ไข่ผำ และพืชที่มีศักยภาพเป็นพืชโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ เป็นต้น

...

ทั้งนี้ ในวันปฐมฤกษ์เปิดกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร รวมทั้งเปิดอาคารที่ทำการอย่างเป็นทางการ กรมวิชาการเกษตร จึงได้ลงนามในเอ็มโอยูความร่วมมือทางวิชาการ ว่าด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อศึกษาวิจัยพืชเกษตร พืชเศรษฐกิจ และการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร ระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับบริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ด้วย.