กรมวิชาการเกษตร เปิดตัว “จ่าเหน่ง” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 2567 ด้านเกษตรอินทรีย์ จาก GAP ต่อยอดสู่อินทรีย์ ผ่านการรับรองรายแรกของสิงห์บุรี เจ้าของแปลงต้นแบบสิงห์บุรีโมเดล การผลิตผักปลอดภัยสร้างรายได้สูง

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เรืออากาศตรีบัญชา เพ็ชรรักษ์ เป็นเกษตรกรอีกรายหนึ่งที่จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในสาขาเกษตรอินทรีย์ดีเด่นแห่งชาติ ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยในปีนี้เรืออากาศตรีบัญชา หรือที่รู้จักกันในนาม “จ่าเหน่ง เกษตรอินทรีย์” ยังได้รับรางวัล แปลงต้นแบบสิงห์บุรีโมเดล การผลิตผักปลอดภัยสร้างรายได้สูง ภายใต้โครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง” ของกรมวิชาการเกษตรอีกด้วย

...

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า แปลงเกษตรอินทรีย์ของจ่าเหน่ง ตั้งอยู่ที่ตำบลโพกรวม อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เป็นแหล่งผลิตพืชผักอินทรีย์ผสมผสาน และเป็นแหล่งเรียนรู้และเชื่อมโยงการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมและพัฒนาเตรียมความพร้อมตามระบบของเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดรวมทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดสิงห์บุรี ด้วยในอดีตจ่าเหน่งเป็นข้าราชการทหาร ด้วยเหตุผลทางสุขภาพจึงตัดสินใจหันมาประกอบอาชีพเกษตรกรอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2553 ผ่านการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง สร้างองค์ความรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงและค้นคว้าหาความรู้จากเอกสารและสื่อต่างๆ รวมทั้งเข้าร่วมอบรมกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ นำมาปรับใช้ให้เข้ากับระบบการผลิตพืชของตนเอง

นายระพีภัทร์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2555 จ่าเหน่งเริ่มมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรเพิ่มขึ้น และได้สมัครขอการรับรองมาตรฐาน GAP กับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 กรมวิชาการเกษตร โดยได้รับการรับรอง จำนวน 12 ชนิดพืช ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาการผลิตให้เข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มศึกษาหาความรู้ด้านการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักสูตรต่างๆ ทดลอง พัฒนาปรับสูตรให้เหมาะสมกับการผลิตของตนเอง พร้อมทั้งศึกษาแนวทางการผลิตพืชในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ จนมั่นใจในแนวทางปฏิบัติ ในปี 2560 จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ โดยได้ยื่นขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตร พื้นที่ 0.75 ไร่ จำนวน 18 ชนิดพืช ได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ในปี 2562 โดยจ่าเหน่งนับว่าเป็นเกษตรกรรายแรกของจังหวัดสิงห์บุรี ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตพืชให้ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จากกรมวิชาการเกษตร

นอกจากนี้ จ่าเหน่งเป็นเกษตรกรที่สร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมเป็นต้นแบบ  โดยออกแบบชั้นปลูกด้วยตนเอง ทำด้วยเหล็ก ขนาด กว้าง 1.20 เมตร ยาว 3 เมตร กรุชั้นปลูกด้วยมุ้งตาข่ายกันแมลง ใช้แผ่นกระเบื้องรองเป็นฐาน ความลึกของกระบะ 20 เซนติเมตร คลุมหลังคาชั้นปลูกด้วยพลาสติก ด้านข้างมีสแลนเพื่อช่วยพรางแสงให้กับต้นพืช และแก้ปัญหาการเข้าทำลายของมดในช่วงเพาะเมล็ด โดยใช้วิธีเพาะเมล็ดในตะกร้าก่อนย้ายลงถาดหลุมเพาะกล้า รวมทั้งใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร เช่น ไส้เดือนฝอย แมลงหางหนีบ BS มาใช้ในการบริหารจัดการศัตรูพืช เน้นวิธีการสำรวจแปลงเป็นหลัก โดยสำรวจทุกวัน เพื่อสามารถควบคุมป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ทันที มิให้เกิดความเสียหายรุนแรง 

...

ด้านการตลาด จ่าเหน่งใช้หลักการตลาดนำการผลิต โดยศึกษาความต้องการของตลาด นำมาวางแผนการผลิตผักและจำหน่ายผักตามชนิดที่ผู้บริโภคต้องการสูง และปลูกหมุนเวียนตามฤดูกาลเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพการปลูกเป็นแบบแปลงยกแคร่ทั้งหมด ปัจจุบันขยายเต็มพื้นที่ มีจำนวน 60 แปลง มีการวางแผนการปลูกเป็นรอบ โดยปลูกพืชผักหมุนเวียน รอบละ 10 แปลง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ตามกำลังของตนเอง และให้มีรายได้หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังหาช่องทางจำหน่ายสินค้าให้หลากหลาย ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง เช่น การวางจำหน่ายหน้าร้าน และการเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผู้บริโภคสามารถตัดผักด้วยตนเอง ในปี 2563 จ่าเหน่งมีรายได้รวมจำนวนทั้งสิ้น 208,735 บาท

...

“สวนผักจ่าเหน่งมีการจัดการคุณภาพพืชในระบบเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง  เน้นการพึ่งพาตนเองมากที่สุดเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยใช้แรงงานภายในครอบครัวเป็นหลัก ตั้งแต่การจัดเตรียมวัสดุเพาะ การจัดเตรียมวัสดุปลูก การผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักต่างๆ ซึ่งจะทำไว้ใช้เองภายในสวน มีการค้นคว้า ทดลอง พัฒนาสูตรต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อนำมาใช้ในแปลงผลิตพืชของตนเองอย่างต่อเนื่อง ปลูกพืชตามความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค ทำให้ไม่มีปัญหาด้านการผลิตและการจำหน่าย ผลผลิตเป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคและเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งยังเปิดร้าน “จ่าเหน่งเกษตรอินทรีย์” จำหน่ายผลผลิตในสวน  และยังนำผลผลิตแปรรูปเป็นอาหารเมนูต่างๆ เช่น สเต๊ก สลัด สลัดโรล ฯ เป็นการพัฒนาต่อยอดการทำการเกษตรในระบบเกษตรอินทรีย์ให้เกิดความยั่งยืน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว.