คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร ม.แม่โจ้ นำร่อง “ลดเผา ลดควัน แป๋งปุ๋ยบนดอย” ชูนวัตกรรมปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองฯ จัดการเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวบนพื้นที่สูง ลดการเผา ลดฝุ่น PM 2.5

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำโดย อาจารย์ ดร.แสนวสันต์ ยอดคำ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนวัฒน์ นิทัศน์วิจิตร อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ่อแก้ว ลัวฉือนี ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการ “ลดเผา ลดควัน แป๋งปุ๋ยบนดอย” โดยได้นำร่องรับซื้อเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ ราคากิโลกรัมละ 1 บาท จำนวนกว่า 40,000 กิโลกรัม (40 ตัน) เพื่อนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ลดการเผา โดยใช้วิธีการหมักปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 ที่เป็นนวัตกรรมองค์ความรู้ของอาจารย์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการลดปัญหาการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM 2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน

...

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพใช้ในพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และสามารถต่อยอดจำหน่ายเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาการเผาตั้งแต่ต้นทาง และเป็นการสร้างมูลค่าจากเศษวัสดุเหลือทิ้ง ตามแนวทางโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย (BCG Model) และเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา นายวิโรจน์ ดวงสุวรรณ์ นายอำเภอสะเมิง ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินกิจกรรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการเผา ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ่อแก้ว ลัวฉือนี ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ พร้อมทั้งในกำลังใจทีมงานให้การดำเนินโครงการประสบความสำเร็จ

นายแสนวสันต์ ยอดคำ รองคณบดีฯ คณะวิศวกรรมฯ กล่าวว่า วิธีการหมักปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 เป็นนวัตกรรมที่ไม่ซับซ้อน เพียงแค่นำเศษพืชผลเหลือทิ้งทางการเกษตรมาหมักรวมกับมูลสัตว์ แล้วดูแลความชื้นในกองให้เหมาะสม ไม่ต้องพลิกกลับกองปุ๋ยให้ยุ่งยาก โดยใช้เวลาหมักเพียง 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งจากโครงการในครั้งนี้เราจะได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ตามเกณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร ประมาณ 60 ตัน มีมูลค่าประมาณ 480,000 บาท เกษตรกรสามารถนำไปใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเองเพื่อลดต้นทุน หรือนำไปจำหน่ายได้ โดยหวังว่าโครงการนี้จะเป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร หรือจากการเก็บเกี่ยว เพื่อลดการเผา ลดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM 2.5) ได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจนวัตกรรมการหมักปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง วิธีวิศวกรรม แม่โจ้ 1 สามารถติดต่อรายละเอียดได้ที่ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทรศัพท์ 0-5387-5000 ถึง 15