แนะให้เกษตรกรผู้ปลูกถั่วฝักยาว เฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยอ่อน และหนอนเจาะฝักลายจุด ที่จะเข้าทำลายในระยะที่ต้นถั่วออกดอกและติดฝัก โดยก่อนปลูกควรไถพรวนพลิกดินขึ้นมาตากแดดก่อน เพื่อทำลายดักแด้

สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร แนะให้เกษตรกรผู้ปลูกถั่วฝักยาวเฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยอ่อน และหนอนเจาะฝักลายจุด โดยจะพบการเข้าทำลายในระยะที่ต้นถั่วออกดอกและติดฝัก สำหรับเพลี้ยอ่อน มักพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเพลี้ยอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และฝักอ่อน ทำให้ส่วนที่ถูกทำลายบิดเบี้ยวและแกร็น หากพบการระบาด ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

สำหรับ หนอนเจาะฝักลายจุด จะพบหนอนที่ฟักออกจากไข่เจาะเข้าไปกัดกินภายในดอกอ่อน ต่อมาจะกัดกินส่วนของดอกและเกสรดอก ทำให้ดอกร่วงหล่น เมื่อหนอนโตขึ้นจะเจาะเข้าไปกัดกินภายในฝักส่วนที่เป็นเมล็ดอ่อน ทำให้ฝักและเมล็ดลีบ ส่วนแนวทางในการป้องกันกำจัด ให้เกษตรกรใช้วิธีกล โดยก่อนปลูกพืชประมาณ 2 สัปดาห์ ให้เกษตรกรไถพรวนพลิกดินขึ้นมาตากแดด โดยไถให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป และตากดินไว้ให้นาน เพื่อกำจัดดักแด้ที่อาจหลงเหลืออยู่ในแปลงปลูก

...

หากพบการระบาด ให้เกษตรกรใช้เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร จากนั้น ให้ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัด สารเบตา-ไซฟลูทริน 2.5% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเดลทาเมทริน 3% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร.