ที่ประชุมกลุ่มประเทศผู้ใช้น้ำ ลุ่มน้ำล้านช้าง-ลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ เร่งวางแผนใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ ช่วยเหลือชาวนารับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ป้องกันความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูกข้าวจากน้ำท่วม-ภัยแล้ง

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมโรงแรมเซ็นเตอร์พ้อยท์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าพลังน้ำแห่งประเทศจีน, สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชางเจียง มหาวิทยาลัยด้านเศรษฐศาสตร์หูเป่ย ประเทศจีน, มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว, คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว และกองทุนพิเศษด้านความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง ได้จัดการประชุมระหว่างภาคส่วน 6 ประเทศ ในกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะด้านสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำในนาข้าว

...

การประชุมครั้งนี้ มีนายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวให้การต้อนรับ พร้อมเปิดการประชุม ซึ่งมีผู้ร่วมประชุมกว่า 100 คน ประกอบไปด้วย นายตง หยานเฟย รองเลขาธิการ LMC Water Center, นายไนออล โอคอนเนอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ SEI-Asia center, ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายวิจัยการบริหารจัดการน้ำ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์มแห่งภาคพื้นเอเชีย, ตัวแทนกรมชลประทาน, กรมการข้าว, กรมพัฒนาที่ดิน, ฝ่ายนโยบาย, เจ้าหน้าที่รัฐ, กลุ่มชาวนา, สถาบันวิจัย, บริษัทเอกชน และตัวแทนจากกลุ่มประเทศแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ประกอบไปด้วย จีน, สปป.ลาว, กัมพูชา, เมียนมา และเวียดนาม

ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายวิจัยการบริหารจัดการน้ำ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์มแห่งภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพิ่มขึ้น ลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้ง ไปจนถึงอุทกภัย ที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุน การเพาะปลูกพืช และสร้างความเสียหายต่อผลผลิตให้กับชาวนาและเกษตรกรต่างๆ

หัวหน้าฝ่ายวิจัยการบริหารจัดการน้ำ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์มแห่งภาคพื้นเอเชีย กล่าวต่อว่า จากข้อมูลกรมการข้าว ในช่วงปี 2562-2563 ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อพื้นที่นาข้าวในประเทศไทยมากกว่า 1,330 ตารางกิโลเมตร หรือกว่า 7 แสนไร่ ทำให้เกิดความเสียหายประมาณ 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ของชุมชน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องดำรงชีพจากการทำนาข้าวในอนาคต ซึ่งข้าวเป็นอาหารหลักที่คนส่วนใหญ่บริโภคเพื่อการดำรงชีพ และเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชนในภูมิภาคแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง

...

ดร.ธนพล กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ปลูกข้าวกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขาดแคลนน้ำ ทำให้ความสามารถของชาวนาในการทำนาเพื่อตอบสนองความจำเป็นในการดำรงชีพ การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งความต้องการของตลาดลดทอนลง

หัวหน้าฝ่ายวิจัยการบริหารจัดการน้ำ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์มแห่งภาคพื้นเอเชีย กล่าวด้วยว่า ดังนั้นการประชุมในครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้มาแลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมอัจฉริยะที่ได้ทดสอบ และมีการพิสูจน์ใช้จริงในนาข้าว ตลอดทั้งมีการประชุมหารือกับผู้แทนฝ่ายนโยบายเพื่อหาแนวทางส่งเสริมการนำใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะในพื้นที่ต่างๆ ให้ขยายมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคให้มีการพัฒนาศักยภาพของชาวนาในการปรับตัวและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศให้ดีขึ้นด้วย.