เทดฟันด์ หนุน ม.วลัยลักษณ์ พัฒนาชีวภัณฑ์ "ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส" ช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา กระตุ้นการงอกเชื้อราปฏิปักษ์ และแมลงบางชนิด แถมบำรุงความแข็งแรงของลำต้นและราก 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน อินทนา อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะที่ปรึกษา บริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด และ น.ส.ปรารถนา อัตตะมณี กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ให้การต้อนรับ ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ เทดฟันด์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ในการลงพื้นที่ติดตามโครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ชีวภัณฑ์มาตรฐานสากล ณ ศูนย์ผลิตและการบริการชีวินทรีย์เกษตร ภายใน ม.วลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับทุนโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) โปรแกรม “Proof of Concept” จากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (เทดฟันด์) โดยมีเจ้าหน้าที่กองทุนเทดฟันด์ บริษัทวลัยไบโอคอนโทรล อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ม.วลัยลักษณ์ และสื่อมวลชนเข้าร่วม

น.ส.ปรารถนา อัตตะมณี กรรมการบริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด กล่าวว่า โครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ชีวภัณฑ์มาตรฐานสากล ที่เทดฟันด์ให้ทุนสนับสนุน เป็นชีวภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ทั้งพืชขาดธาตุอาหาร ความเสียหายจากการเข้าทำลายของศัตรูพืช การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางการเกษตรที่เกิดจากการดูแลพืชไม่เหมาะสม ส่งผลให้ผลผลิตพืชด้อยคุณภาพและลดปริมาณลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการขาดทุน และขาดความยั่งยืนของเกษตรกร

สำหรับโครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ภายใต้การดูแลและบ่มเพาะ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ จึงผลิตชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส มาแก้ปัญหาดังกล่าว โดยนำเชื้อและสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการปลูกพืช 5 องค์ประกอบ ได้แก่ เชื้อรา Trichoderma asperellum NST-009 เชื้อรา Metarhizium anisopliae WU-003 เชื้อรา Beauveria bassiana WU-002 ธาตุอาหารรองที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต (แคลเซียมและแมกนีเซียม) และสารเสริมความแข็งแรงและกระตุ้นการงอกของสปอร์เชื้อราปฏิปักษ์ มาผสมกัน และผ่านการทดสอบ

...

ทั้งนี้ ศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร ระบุว่า ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส สามารถควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราได้ถึง 31 โรค อาทิ โรครากเน่าโคนเน่า โรคแอนแทรคโนส โรคเน่าระดับดิน โรคใบจุด และโรคใบไหม้ ฯลฯ ในพืช 14 ชนิด เช่น ทุเรียน พืชตระกูลส้ม ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว พืชผักต่างๆ และไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น และยังสามารถควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น ด้วงแรดมะพร้าว เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ไรแดง และหนอนผีเสื้อต่างๆ ได้อีกด้วย.