กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาต้นแบบชุดทดสอบพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้สด วิธีใช้งานง่ายคล้าย ATK สะดวก ให้ผลรวดเร็ว โดยเตรียมเปิดให้ผู้สนใจรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อจำหน่ายให้ประชาชน ตรวจสอบความปลอดภัยของผักผลผลไม้

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า พาราควอต (Paraquat) เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช หรือ ยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรนิยมใช้ เนื่องจากมีราคาถูกและได้ผลดี โดยออกฤทธิ์เผาไหม้เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง ดังนั้นหากเกษตรกรที่ใช้สารนี้โดยไม่มีการป้องกัน หรือบริโภคอาหารที่มีการตกค้าง อาจเกิดภาวะความเป็นพิษ โดยจากข้อมูลการวิเคราะห์ทางพิษวิทยา องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า พาราควอต เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง หากได้รับโดยตรงจากการบริโภค ทำให้เกิดอาการแสบร้อน เกิดแผลในหลอดลม และระบบทางเดินอาหาร สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัส สูดดม จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง ทำให้เกิดพังผืดในปอด ปนเปื้อนในอาหาร และยังก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม และที่สำคัญ เป็นสารก่อมะเร็ง

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ พาราควอตยังตกค้างในสิ่งแวดล้อม ดิน แหล่งน้ำธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์การเกษตร จากรายงานการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2562 ประเทศไทยได้นำเข้าพาราควอต เพื่อใช้ในทางการเกษตรกว่า 9,900 ตัน แม้ว่าสารนี้จะถูกแบนไปแล้วตั้งแต่ปี 2563 แต่อาจมีการตกค้างของสารดังกล่าว อยู่ในผักและผลไม้สดในปริมาณสูง และทำให้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากสารปนเปื้อนได้เช่นกัน

...

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวอีกว่า พาราควอต จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมอาจเกิดอันตรายต่อประชาชนได้ และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 419 (พ.ศ. 2563) เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ระบุว่า อาหารที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยต้องตรวจไม่พบพาราควอต ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยได้พัฒนาชุดทดสอบพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้สด ซึ่งเป็นการตรวจสอบอย่างง่าย ที่มีความแม่นยำ และตรวจสอบเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็ว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการใช้งานชุดทดสอบว่า ชุดทดสอบนี้ใช้ได้กับผักและผลไม้สดที่มีจำหน่ายในประเทศไทย เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นชุดทดสอบที่มีคุณสมบัติเป็นการตรวจเบื้องต้น ที่คนไทยคุ้นเคยต่อการใช้งาน คล้ายชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) โดยใช้เทคนิคอิมมูโนโครมาโทกราฟี (Immunochromatography) หรือ IC ซึ่งอาศัยหลักการจับกันระหว่างแอนติบอดี และแอนติเจนแบบแข่งขัน (Competitive immunoassay) เป็นวิธีที่สะดวก มีประสิทธิภาพ มีความไวในการตรวจสอบ ทราบผลใน 15-30 นาที ไม่ต้องมีเครื่องมือพิเศษแต่อย่างใด เกณฑ์การวัดขั้นต่ำสุดที่ชุดทดสอบนี้สามารถตรวจพบได้ที่ 0.005 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (mg/kg) ซึ่งตรงตามที่กฎหมายกำหนด

“ชุดทดสอบนี้ได้ผ่านการทดสอบในภาคสนาม และจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ขณะนี้ ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมเปิดให้ผู้สนใจทั้งภาครัฐภาคเอกชนมารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ เพื่อนำไปผลิตจำหน่ายให้กับประชาชน ตลอดจนหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เข้าถึงชุดทดสอบนี้ได้ง่ายขึ้น สำหรับนำไปใช้ในการตรวจสอบความปลอดภัยผักผลไม้เบื้องต้นได้” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว.