"นฤมล" สั่ง "ธนดล" ลุยชุมพร ปราบ "ทุเรียนเถื่อน" จับ "ทุเรียนชุบสารแคดเมียม" เกินค่ามาตรฐานกำหนด ตัวบ่อนทำลายวงการทุเรียนไทย

วันที่ 17 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์ผ่านเพจ ธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ว่า "ผมได้รับบัญชาสั่งการจากท่านนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ลงพื้นที่ จ.ชุมพร ตรวจสอบการลักลอบสวมสิทธิ์ทุเรียนเถื่อนและทุเรียนชุบสารแคดเมียม โดยผมจะนำกำลังหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช และกรมจัดหางาน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ลงพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบเพื่อประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียน"

สำหรับทุเรียน เป็นผลไม้ไทยอีกชนิดหนึ่งที่เป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก หนึ่งในประเทศที่นำเข้าทุเรียนจากไทยเป็นจำนวนมากก็คือ ประเทศจีน สำหรับการส่งออกทุเรียนไปจีนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 15 ก.ย.2567 ไทยส่งออกทุเรียนไปแล้ว 755,437 ตัน มีมูลค่าถึง 100,041 ล้านบาท

การส่งออกทุเรียนไปยังจีนจึงถือเป็นรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจของไทย

...

แต่ในปี 2567 นี้ ทางจีนได้มีรายงานการแจ้งเตือนการตรวจพบการปนเปื้อน “แคดเมียม” ในทุเรียนไทยที่ส่งออกไปจีน โดยได้มีการแจ้งเตือนมาตั้งแต่ 11 มี.ค. 2567 จนถึงปัจจุบันมีการแจ้งเตือนแล้ว จำนวน 6 ครั้ง จากผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ 12 ราย และแหล่งผลิตจำนวน 15 สวน จำนวน 16 ล็อต

เกิดอะไรขึ้นกับทุเรียนไทย!!

เราไม่เคยเจอทุเรียนปนเปื้อนแคดเมียมในปริมาณที่เกินค่ามาตรฐานที่ทางการจีนกำหนด ที่ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ก่อนหน้านี้ทางกรมกักกันสัตว์และพืช ของศุลกากรแห่งชาติจีน ก็ได้มีการส่งเอกสารเตือนไปยังสถานทูตเวียดนามในจีน ระบุว่า มีการตรวจพบทุเรียนนำเข้าจากเวียดนามถึง 77 ล็อต มีการปนเปื้อน “แคดเมียม” เกินกำหนด และเพื่อปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค จีนจึงระงับการนำเข้าทุเรียนจากโรงงานบรรจุภัณฑ์ 15 แห่ง และสวนผลไม้ 18 แห่งในเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2567 เป็นต้นมา

นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นตรวจสอบการลักลอบสวมสิทธิ์ทุเรียนเถื่อนและทุเรียนชุบสารแคดเมียม เป็นการลงพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบทั้งหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช และกรมจัดหางาน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ลงพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบเพื่อประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียน

หากพบการลักลอบนำเข้าทุเรียนต่างประเทศ เพื่อมาสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยเพื่อส่งออก ถือเป็นการทำลายคุณภาพและภาพลักษณ์ทุเรียนไทย จึงต้องดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะกลุ่มที่ปลอมแปลงหรือสวมการใช้ใบรับรอง GAP ให้เป็นคดีอาญาเพราะถือเป็นการปลอมแปลงเอกสารทำอย่างจริงจัง โดยเพิ่มความเข้มงวดและบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด เพราะทุเรียนที่จะส่งออกจีนได้ต้องได้ขึ้นทะเบียน GAP

"ที่สำคัญ ปัญหาทุเรียนปนเปื้อนแคดเมียมจะต้องไม่เกิดขึ้น ใครทำผิด ผมไม่เอาไว้แน่นอน" นายธนดล กล่าว.