กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี เร่งสร้าง "อ้อยสะอาด" โดยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจากโรคใบขาวอ้อย ที่เป็นสาเหตุทำให้คุณภาพและความสมบูรณ์ของอ้อยลดลง

อ้อย เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีพื้นที่ปลูกรวม 11,125,480 ไร่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดของประเทศ 4,960,255 ไร่ ด้วยปัญหาของสภาพอากาศที่แปรปรวน สภาพดินทรายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งปัญหาโรคใบขาวอ้อย อันเกิดจากพาหะเชื้อไฟโตพลาสมา (phytoplasma) ที่กระจายตัวอาศัยอยู่ในทุกส่วนของลำต้นอ้อย

เมื่อเกษตรกรนำท่อนพันธุ์จากต้นที่ติดเชื้อไปขยายพันธุ์ ก็จะมีเชื้อติดไปด้วย รวมกับแมลงพาหะนำโรคอย่างเพลี้ยจักจั่นปีกลายจุดสีน้ำตาล และเพลี้ยจักจั่นหลังขาว ก่อให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพและความสมบูรณ์ของอ้อย เพื่อลดความเสี่ยงของโรคใบขาวอ้อย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการป้องกันกำจัดโรคใบขาวอ้อยได้ ดังนั้นการเลือกใช้พันธุ์สะอาดจากวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของเกษตรกร

...

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดย กองขยายพันธุ์พืช และศูนย์ขยายพันธุ์พืช ทั้ง 10 ศูนย์ (จังหวัดชลบุรี ตรัง นครราชสีมา นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ พิษณุโลก มหาสารคาม ลำพูน สุพรรณบุรี อุดรธานี) มีภารกิจหลักในการผลิตและขยายพืชพันธุ์ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตรใน 4 สายการผลิต คือ ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ และพันธุ์พืชจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สำหรับต้นพันธุ์อ้อยสะอาด จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจากโรคใบขาวอ้อย จึงได้มอบหมายให้ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี ดำเนินกิจกรรมผลิตขยายพันธุ์อ้อยสะอาด สำหรับสนับสนุนเกษตรกรเครือข่ายในการจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยสะอาดไว้ใช้เอง โดยในแต่ละขั้นตอนของการผลิตต้นพันธุ์ จะต้องผ่านการตรวจคัดกรองโรคใบขาวอ้อย ด้วยกระบวนการ PCR Technique

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินกิจกรรมการผลิตขยายพันธุ์อ้อยสะอาด สำหรับสนับสนุนเกษตรกรเครือข่ายในการจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยสะอาดไว้ใช้เอง ทางศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี เลือกใช้อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 ซึ่งให้ผลผลิตสูง ไม่ออกดอก ทำให้น้ำหนักและความหวานไม่ลดลง กาบใบหลวม จึงเก็บเกี่ยวง่าย และเหมาะสมกับสภาพพื้นดินร่วนปนทราย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ถูกเพาะเลี้ยงในสภาวะที่ควบคุมในเรื่องของความสะอาดแบบปลอดเชื้อ อุณหภูมิ และแสง จะเป็นต้นกล้ามีลักษณะตรงตามพันธุ์เหมือนต้นแม่ มีความสมบูรณ์แข็งแรงทั้งลำต้นและราก ปราศจากโรคแมลงศัตรูพืชและลักษณะอาการขาดธาตุอาหารพืช รวมทั้งสามารถผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรคในปริมาณมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว

นายรพีทัศน์ กล่าวอีกว่า ในระยะแรก มีเป้าหมายในการผลิตอ้อยสะอาด จำนวน 20,000 ต้น ขณะนี้ดำเนินการผลิตเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสะอาดและนำลงปลูกในแปลงสาธิต ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืช ที่ 10 จังหวัดอุดรธานี ครบเรียบร้อยแล้ว เข้าสู่กระบวนการจัดส่งท่อนพันธุ์ที่มีอายุพันธุ์ 8-10 เดือน ให้กับเกษตรกรเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่อ้อย ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 60,000 ลำ ในฤดูกาลเพาะปลูกประจำปี 2567 ต่อไป

...

ด้าน นายชาญชัย คำวงษา ประธานแปลงใหญ่อ้อย ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้ให้ข้อมูลว่า ทางกลุ่มมีสมาชิกจำนวน 250 ราย พื้นที่รวม 3,300 ไร่ เดิมเกษตรกรในพื้นที่จะนิยมซื้อพันธุ์จากชาวบ้านข้างเคียง และนำท่อนพันธุ์นั้นไว้ใช้เองต่อ แต่ยังคงเกิดปัญหาโรคใบขาว จึงเข้ามาขอรับพันธุ์ขอนแก่น 3 ไปทดลองใช้ เห็นผลดี อ้อยมีคุณภาพมากกว่าพันธุ์อื่น มีลำต้นใหญ่ แข็งแรง การแตกกอมากกว่า รวมทั้งยังไม่เจอการปนเปื้อนโรคใบขาวในแปลง และนอกจากการสนับสนุนท่อนพันธุ์แล้ว การที่มีเจ้าหน้าที่คอยมาให้คำแนะนำ ติดตามงาน ทำให้เกษตรกรแก้ปัญหาได้ทันที

ประธานแปลงใหญ่อ้อย ตำบลหายโศก จ.อุดรธานี กล่าวด้วยว่า ในส่วนการตลาดนอกจากจะขายส่งโรงงานแล้ว ยังมีเกษตรกร พ่อค้าคนกลาง ยกเหมาแปลงพันธุ์ ในราคา 15,000 บาท/ไร่ เพื่อนำไปแบ่งขายท่อนพันธุ์ดีต่อ สร้างรายได้ 2 ทางให้กับเกษตรกร ซึ่งเมื่อทางกลุ่มทราบข่าวว่า ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี ได้ดำเนินกิจกรรมผลิตขยายพันธุ์อ้อยสะอาด สำหรับสนับสนุนเกษตรกรเครือข่ายในการจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยสะอาดไว้ใช้เอง โดยใช้พันธุ์ขอนแก่น 3 เกษตรกรสมาชิกในกลุ่มจึงสมัครเข้าร่วมกิจกรรมรวม 20 ราย เพื่อขอรับท่อนพันธุ์อ้อย พร้อมที่จะเริ่มปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมที่จะถึงนี้.

...